น้ำมูกเขียว (ไซนัสอักเสบ) เมื่อไรต้องให้ยาปฏิชีวนะ ?


“ลูกมีน้ำมูกเขียวต้องกินยาฆ่าเชื้อแล้วล่ะ!”
“น้ำมูกเขียวแสดงว่าเป็นไซนัสอักเสบสงสัยต้องกินยาฆ่าเชื้อแล้ว!”

คิดว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยอ่านหรือได้ยินได้ฟังแบบนี้มาบ้าง ว่าแต่น้ำมูกเขียวแปลว่าต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะจริงหรือไม่ ? ลองอ่านบทความนี้เพื่อไขข้อข้องใจกันค่ะ


น้ำมูกเขียวเกิดจากอะไร ?
เยื่อจมูกอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้ หรือเกิดจากการติดเชื้อทั้งไวรัสและแบคทีเรีย เมื่อมีการอักเสบของเยื่อจมูกจะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมและมีสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ในรายที่มีการติดเชื้อจะมีเม็ดเลือดขาวมาทำหน้าที่ดักจับทำลายเชื้อโรคโดยส่วนที่เหลือของเม็ดเลือดขาวจะมีการออกซิไดซ์ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือเหลือง ดังนั้นการที่น้ำมูกเปลี่ยนสีจึงไม่ได้บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียและไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการให้ยาปฏิชีวนะ เช่นเดียวกับการมีน้ำมูกเขียวไม่ได้หมายความว่าเป็นไซนัสอักเสบเสมอไป การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยประวัติและอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆร่วมด้วย บทความนี้จะขอกล่าวเกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบในแง่อาการทางคลินิก การวินิจฉัยและการรักษาพอสังเขป ดังนี้


โรคไซนัสอักเสบ หมายถึง การอักเสบและการติดเชื้อของเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
  • โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้
    o เกิดจากเชื้อไวรัส พบประมาณ 90-98% ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่เกิน 10 วัน และมักจะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ
    o เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบประมาณ 2-10% ในเด็กมักพบมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากเชื้อไวรัสนำมาก่อนแล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลัง พบประมาณ 5% อาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
       1) มีอาการของหวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนานกว่า 10 วันโดยอาการไม่ดีขึ้น
       2) มีอาการรุนแรงหรือไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียสร่วมกับน้ำมูกขุ่นข้นหรือปวดบริเวณใบหน้านานติดต่อกันเกิน 3-4 วันตั้งแต่เริ่มป่วย
       3) มีอาการแย่ลงหรืออาการกลับเป็นซ้ำหลังจากอาการทุเลาลงแล้ว ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ หรือมีน้ำมูกเพิ่มขึ้นตามหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนมาแล้ว 5-6 วัน
    o สาเหตุอื่นๆ เช่น สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น

  • โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์

  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆได้

อาการและอาการแสดงของไซนัสอักเสบ
อาการหลักที่พบบ่อย ได้แก่ อาการคัดหรือแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลออกมาทางรูจมูกด้านหน้าหรือไหลลงคอ มีอาการปวดหรือแน่นบริเวณใบหน้า มีการรับกลิ่นเสียไป มีไข้ (ในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน) และบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน ไอ เป็นต้น


การวินิจฉัย
การวินิจฉัยไซนัสอักเสบวินิจฉัยจากอาการแสดงทางคลินิกเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องทำการถ่ายภาพรังสีหรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ยกเว้นในรายที่สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน สำหรับการส่งเพาะเชื้ออาจทำในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการให้ยาต้านจุลชีพหรือสงสัยเชื้อดื้อยา


การรักษา
  • ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด, ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
  • ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (วินิจฉัยตามเกณฑ์ที่กล่าวไว้ข้างต้น) พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะนาน 10-14 วัน โดยชนิดของยาที่ให้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาในแต่ละราย ควรพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง
  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย การให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพิจารณาให้เฉพาะในรายที่มีไซนัสอักเสบเฉียบพลันขึ้นซ้ำ (acute exacerbation) และควรทำการส่งเพาะเชื้อเพื่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม 

ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
  • ทางตา อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
  • ทางสมอง อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่วมกับไข้สูง เป็นต้น

เมื่อไรต้องพบแพทย์ ?
อาการที่ควรสงสัยไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ไข้หวัดที่อาการไม่ดีขึ้นนานกว่า 10 วัน หรืออาการกลับแย่ลงทั้งที่อาการเคยทุเลาลงแล้ว หรือมีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก ได้แก่ ไข้สูงร่วมกับน้ำมูกข้นหรือปวดใบหน้าติดต่อกันเกิน 3-4 วันตั้งแต่เริ่มป่วย รวมถึงมีอาการที่สงสัยภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบทางตาและทางสมองดังกล่าวข้างต้น