ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลกจากการจัดอับดับโดยองค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2559 มีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่และกลับมาป่วยเป็นวัณโรคซ้ำ มากกว่า 100,000 ราย วัณโรคสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลายอวัยวะในร่างกาย เช่น วัณโรคสมอง วัณโรคต่อมน้ำเหลือง แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ วัณโรคปอด ประมาณร้อยละ 80
วัณโรคติดต่อได้อย่างไร
วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนไปสู่คนโดยการแพร่กระจายไปในอากาศ ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัส ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม ตะโกน ทำให้เกิดละอองฝอยเล็กๆแพร่กระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งเมื่อสูดหายใจเข้าไปละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ก็จะเข้าไปอยู่ในถุงลมได้ อย่างไรก็ตามการแพร่เชื้อวัณโรคจะลดลงมาก เมื่อผู้ป่วยวัณโรคนั้นได้รับยาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพแล้วนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
เมื่อไหร่จะสงสัยว่าเป็นวัณโรค
เด็กสามารถป่วยเป็นวัณโรคได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อาการของวัณโรคในเด็กแสดงได้หลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร ไม่เล่น น้ำหนักลด ซีด ไอเรื้อรัง เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคมักจะมีอาการร่วมกันหลายอย่าง ไม่ได้มีอาการไออย่างเดียว หรือในเด็กเล็กอาจจะไม่มีอาการไอเลยก็ได้
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค
ในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก การป่วยเป็นวัณโรคเริ่มจากได้รับเชื้อแพร่กระจายอยู่ในอากาศจากผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคชนิดแพร่เชื้อ แพทย์จะวินิจฉัยวัณโรคในเด็กจาก
- อาการเข้าได้กับวัณโรค เช่น ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร
- มีประวัติอยู่ร่วมบ้านหรืออยู่ร่วมสถานที่กับผู้ป่วยวัณโรคในระยะที่มีการแพร่เชื้อ
- ถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก
เมื่อสงสัยว่าเป็นวัณโรค แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมและให้การรักษาให้หายขาดได้โดยใช้สูตรยาต้านวัณโรคเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
ถ้ามีคนในบ้านเป็นวัณโรคจะทำอย่างไร
เด็กโดยที่เฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และเด็กที่ย่างเข้าวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค เมื่อมีคนในบ้านเป็นวัณโรคแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดก็ตาม อายุเด็กยิ่งน้อย เช่น วัยทารก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กโต แต่วัณโรคมีระยะฟักตัวนานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้นแพทย์สามารถให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กป่วยเป็นวัณโรคได้ จึงแนะนำให้พาเด็กทุกคนที่สัมผัสโรคหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคมาพบแพทย์แม้ว่าเด็กจะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม ทั้งนี้แพทย์จะได้ตรวจประเมินและให้ยาเพื่อป้องกันการเป็นวัณโรคต่อไป
วัณโรครักษาได้หรือไม่
หากพบว่าเด็กป่วยเป็นวัณโรคแล้วก็สามารถรักษาให้หายได้ ยารักษาวัณโรคขั้นต้นเป็นยารับประทาน การรับประทานยารักษาวัณโรคนั้นต้องรับประทานยาหลายตัวและต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาและหายขาดจากวัณโรค
การป้องกันวัณโรคทำได้อย่างไร
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันวัณโรคได้แก่ วัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันวัณโรคได้ร้อยละ 50-80 ในประเทศไทยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจีเมื่อแรกคลอด อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่สำคัญที่สุดที่จะไม่ให้เด็กเป็นวัณโรคคือ การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและรับการรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เนื่องจากการแพร่เชื้อจะลดลงอย่างมากหลังได้รับยาต้านวัณโรค 2 สัปดาห์ ควรให้กำลังใจผู้ป่วยวัณโรคในการกินยาอย่างสม่ำเสมอจนครบ และพาเด็กที่สัมผัสโรคมารับการตรวจประเมินจากกุมารแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาป้องกันวัณโรคตามความเหมาะสม