โรคบรูเซลโลสิส (BRUCELLOSIS)

1.ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะต่างๆของร่างกาย (systemic) แบคทีเรีย โดยจะทำให้เกิดอาการเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆเชื้อก่อโรค ปัจจุบันมี 6 species คือ
- Brucella abortus (Biovar 1-6 และ 9) มักพบในโค กระบือ
- Brucella melitensis (Biovar 1-3) พบในแพะ แกะ
- Brucella suis (Biovar 1-5) พบในสุกร
- Brucella canis พบในสุนัข
- Brucella ceti พบในแมวนํ้า
- Brucella pinnepedialis พบในปลาวาฬ และปลาโลมา

2. ระบาดวิทยา :
สถานการณ์ทั่วโลก :
พบมีการแพร่ระบาดในทุกประเทศของโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน (ยุโรปและแอฟริกา) ตะวันออกกลางแอฟริกา เอเชียกลาง อเมริกากลางและใต้ อินเดีย และแม็กซิโก ซึ่งแหล่งโรคและสายพันธุ์ของเชื้อจะแตกต่างกันตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ มีการรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดโรคหลังจากที่มีการเดินทางระหว่างประเทศ โรคนี้เป็นโรคจากการประกอบอาชีพที่เด่นชัดซึ่งมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานในฟาร์ม สัตวแพทย์และคนงานโรงฆ่าสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงพบโรคนี้ได้บ่อยในเพศชาย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคและการระบาด ได้แก่ การบริโภคนมดิบ หรือผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะเนยแข็งชนิดอ่อนนุ่ม (soft cheese) ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ที่มาจากวัว แกะ และแพะที่ติดเชื้อ การแยกเชื้อ B.canis ที่ได้จากผู้ป่วย มักเกิดในผู้ที่มีการสัมผัสกับสุนัข และ B.suis พบในนักล่าสัตว์จากการสัมผัสกับหมูป่า โรคนี้มักไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการรายงานผู้ป่วย

สถานการณ์โรคในประเทศไทย :
สถานการณ์โรคบรูเซลโลซิสพบอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากเชื้อ Brucella suisเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีสุกรเป็นสัตว์รังโรคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 สำนักระบาดวิทยาได้สอบสวนโรคบรูเซลโลซิสรวม 7 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้จากการเฝ้าระวังเชิงรับ 3 ราย จากจังหวัดเพชรบูรณ์ จันทบุรี และนครพนม ทั้ง 3 รายเป็นผู้ป่วยพบโดยบังเอิญ และพบผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังเชิงรุกในระหว่างการสอบสวนโรคอีก 4 ราย

          จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และชำแหละสัตว์ ได้แก่ สุกร และแพะเป็นต้น โดยมีประวัติสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง รก และลูกหมูหรือลูกแพะที่แท้งโดยไม่ใส่ถุงมือป้องกัน หรือชำแหละเนื้อสัตว์ แล้วนำมารับประทานอย่างสุกๆ ดิบๆอย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคบรูเซลโลซิส เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้ขาดการตระหนักถึงโรคนี้จึงทำให้พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้น้อย ทั้งๆ ที่มีรายงานจากกรมปศุสัตว์ที่ตรวจพบโรคนี้ทั้งในโค กระบือ แพะ และแกะ ตลอดปีในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย

3. อาการของโรค : มีไข้เป็นระยะๆ เป็นเวลานาน หรือเป็นๆหายๆ ไม่แน่นอน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากหนาวสั่น ปวดตามข้อ มึนซึม นํ้าหนักลด และปวดตามร่างกายทั่วๆ ไป อาจพบการอักเสบเป็นหนองที่อวัยวะเฉพาะที่ เช่น ตับ ม้าม และติดเชื้อเฉพาะที่ชนิดเรื้อรังหรือไม่แสดงอาการ

4. ระยะฟักตัวของโรค :
อยู่ในช่วง 5 - 60 วัน ส่วนใหญ่ประมาณ 1 - 2 เดือน

5. การวินิจฉัยโรค : การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทำโดยการแยกเชื้อจากเลือด ไขกระดูกหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ หรือจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย การตรวจทางนํ้าเหลืองในห้องปฏิบัติการจะมีประโยชน์มากต่อการวินิจฉัยที่แม่นยำในผู้ป่วยกว่าร้อยละ 95 แต่จำเป็นต้องทดสอบร่วมกับการตรวจสอบอื่น (Rose Bengal และ Seroaglutination)โดยการตรวจ agglutination antibodies (IgM, IgG และ IgA) กับการทดสอบ non-agglutinationantibodies (Coombs-IgG หรือ ELISA-IgG) ซึ่งทดสอบในขั้นตอนถัดไป วิธีการเหล่านี้ไม่ได้ใช้ทดสอบสำหรับ B.canis ซึ่งการวินิจฉัยจำเป็นต้องทดสอบด้วยการตรวจแอนติบอดีกับ rough-lipopolysaccharide antigens

6. การรักษา : ให้รับประทานยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline)วันละ 200 มิลลิกรัม (ไม่ใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี)ร่วมกับยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin) 600 - 900มิลลิกรัมต่อวันติดต่อกันนานอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือให้สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) วันละ 1 กรัม

7. การแพร่ติดต่อโรค : โดยการสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด ลูกสัตว์ที่แท้งออกมา (โดยเฉพาะรก) โดยเชื้อจะเข้าทางผิวหนังที่มีแผลหรือรอยขีดข่วน และการติดต่ออาจเกิดโดยการดื่มนํ้านมดิบจากสัตว์ที่ติดเชื้อ และผลิตภัณฑ์นมดิบการติดต่อโดยการหายใจเกิดขึ้นได้ทั้งในสัตว์ (ที่เลี้ยงรวมในคอกหรือเล้า) และในคนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการและในโรงฆ่าสัตว์

8. มาตรการป้องกันโรค :

    1. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยการพาสเจอร์ไรซ์ หรือการทำให้สุกด้วยความร้อนวิธีอื่นๆ
     2. ให้ความรู้แก่เกษตรกร คนงานในฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์โรงงานชำแหละเนื้อ และผู้จำหน่ายตามเขียงเนื้อเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค และความเสี่ยงต่อการจับต้องซากสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อและมาตรการต่างๆ ที่จะลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ (โดยเฉพาะการจัดระบบถ่ายเทอากาศในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสม)
     3. ตรวจสอบการติดเชื้อในฝูงปศุสัตว์ โดยใช้วิธีทางซีโรโลยีและวิธี ELISA หรือการใช้ ring test ในนํ้านมโคกำจัดสัตว์ที่ติดโรคโดยการคัดแยกและฆ่า กรณีตรวจพบการติดเชื้อในสุกรมักจำเป็นต้องส่งโรงฆ่าทั้งฝูง ในพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงควรมีการให้วัคซีนแก่สัตว์ โดยในลูกแพะและแกะควรใช้ live attenuated Rev-1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งของB. melitensis และในลูกโค (บางครั้งอาจฉีดให้แก่โคที่โตแล้ว) ใช้วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อ B. abortus สายพันธุ์ 19
     4. ใช้มาตรการป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ เช่น การใช้ถุงมือยางและการล้างมือภายหลังการจับต้องรก สารคัดหลั่งและลูกสัตว์ที่แท้ง รวมทั้งการฆ่าเชื้อบริเวณที่ปนเปื้อนสิ่งเหล่านี้
     5. นมจากโค แกะและแพะ จะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ก่อนการบริโภค ถ้าไม่สามารถทำได้ การต้มก็ฆ่าเชื้อได้เช่นกัน

9. มาตรการควบคุมการระบาด : สอบสวนหาแหล่งโรคร่วมที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติมักเป็นนํ้านมดิบ
และผลิตภัณฑ์นม โดยเฉพาะเนยแข็งจากฝูงปศุสัตว์ที่ติดเชื้อ ติดตามเก็บผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนเชื้อที่วางจำหน่วยหรือหลงเหลืออยู่ตามบ้านผู้ซื้อ แล้วสั่งหยุดการผลิตและการจำหนา่ ยจนกวา่ ผูผ้ ลิตจะเริ่มกระบวนการพาสเจอรไรซ์ได้สำเร็จ

เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คู่มือการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ. ใน: การตรวจบรูเซลโลซิสด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา. กระทรวงสาธารณสุข; 2552. หน้า 100.
2. กุลนารี สิริสาลี และสุดารัตน์ มโนเชี่ยวพินิจ การเจาะเลือด: ผลกระทบต่อคุณคุณภาพงานบริการทางห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ: เอช ที พีเพรส, 2541.
3. Heymann DL., Editor, Control of CommunicableDiseases Manual 19th Edition, American Associationof Public Health, 2008.