โรคติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร (ENTEROVIRUS DISEASES) : โรคมือเท้าปาก (HAND, FOOT AND MOUTH DISEASE : HFMD)

1. ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดเฉียบพลัน และสามารถหายได้เอง เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น ในกลุ่มไวรัสเอนเทอโรหรือไวรัสในลำไส้ มักเกิดในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลฯ โดยมีปัจจัยหลักที่โน้มนำให้เกิดการระบาดมาจากความแออัด ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขวิทยาส่วนบุคคลบกพร่อง เด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนในกลุ่มอายุอื่น ผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้เกิดเป็นประจำมักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้แล้วบางส่วน

2. ระบาดวิทยา :
สถานการณทั่วโลก : โรคนี้พบผู้ป่วยและการระบาดได้ทั่วโลก มีรายงานการระบาดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร 71 ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย (พ.ศ. 2540) และไต้หวัน (พ.ศ. 2541) เป็นต้น ประเทศในเขตร้อนชื้น สามารถเกิดโรคนี้ได้แบบประปรายตลอดปี พบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งอากาศเย็นและชื้น การระบาดมักเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
สถานการณ์โรคในประเทศไทย :
นับแต่มีรายงานการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร 71 ในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ พ.ศ. 2540 กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา และสำนักโรคติดต่อทั่วไป (ขณะนี้แยกออกมาเป็นสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่) กรมควบคุมโรค ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เริ่มมีการเฝ้าระวังรายงานและสอบสวนผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ เอนเทอโร 71 และป้องกันควบคุมโรคนับตั้งแต่นั้นมา โดยเพิ่มเติมโรคมือ เท้า ปาก ในระบบรายงานผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง ลักษณะการเกิดโรคกระจัดกระจายหรือระบาดเป็นครั้งคราว มักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน (พฤษภาคม - มิถุนายน)มักเป็นกับเด็กอายุตํ่ากว่า 10 ปี ไม่ค่อยพบในวัยรุ่น การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กโรงเรียนอนุบาล กลุ่มเสี่ยงต่อโรค พบสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุตํ่ากว่า 5 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะอยู่กันอย่างแออัด และถ้ามีการระบาดเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่เด็กที่มีอายุมากขึ้นจนถึงวัยรุ่น และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มมากขึ้น

3. อาการของโรค : มีได้หลายลักษณะ ดังนี้
3.1. โรคแผลในคอหอย
มีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มพองใสขนาด 1 - 2 มิลลิเมตรบนฐานซึ่งมีสีแดง กระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน โดยมากพบที่บริเวณด้านหน้าของต่อมทอนซิล เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิลและมักเป็นอยู่นาน 4 - 6 วัน หลังเริ่มมีอาการมีรายงานพบว่าอาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมได้ร้อยละ 5 แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
3.2. โรคมือ เท้า ปาก แผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้ม และเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น (ดังรูปที่ 26) ลักษณะตุ่มพองใสอาจอยู่นาน7 - 10 วัน และจะมีผื่นหรือตุ่มพองใส เกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ (ดังรูปที่ 27) และฝ่าเท้า (ดังรูปที่ 28)หรือบริเวณก้น โดยทั่วไปหายได้เอง พบน้อยมากที่ทำให้เสียชีวิตในเด็กทารก


รูปที่ 26 แผลบนลิ้นและนิ้วหัวแม่มือ โรคมือเท้าปาก (Ulcersin the mouth and on the thumb)
 


รูปที่ 27 ผื่นบนฝ่ามือและนิ้วตุ่มพองใสบนฝ่ามือและนิ้ว
โรคมือ เท้า ปาก (Blisters on the palm and fingers)



รูปที่ 28 ตุ่มพองใสบริเวณหลังเท้า โรคมือ เท้า ปาก (Blisters on the soles of the feet)

3.3. โรคคออักเสบมีต่อมนํ้าเหลืองโต แผลที่ค่อนข้างแข็ง นูน กระจาย มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองขนาดประมาณ 3 - 6 มิลลิเมตรอยู่บนฐานรอบสีแดง และพบมากบริเวณลิ้นไก่ ด้านหน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง

4. ระยะฟักตัวของโรค : โดยเฉลี่ย 3 - 5 วัน สำหรับโรคแผลในคอหอยและโรคมือ เท้า ปาก และโรคคออักเสบมีต่อมนํ้าเหลืองโต มีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน

5. การวินิจฉัยโรค : สามารถพบเชื้อได้จากตัวอย่างจากป้ายแผล ช่องปาก และอุจจาระ มาเพาะแยกเชื้อ หรือฉีดเพาะเชื้อในลูกหนู (suckling mice) และเนื่องจากเชื้อมีหลายสายพันธุ์ย่อยซึ่งทำให้เกิดอาการคล้ายกัน และไม่มีแอนติเจนที่ใช้ร่วมกัน การตรวจหาทางนํ้าเหลืองจึงต้องกำหนดการส่งตรวจเชื้อเพื่อการวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจงของเชื้อชนิดนั้นๆ

6. การรักษา : ไม่มีการรักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ

7. การแพร่ติดต่อโรค : จากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อที่ปนเปื้อนในนํ้ามูก นํ้าลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือการไอจามรดกัน แต่ไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อติดต่อผ่านทางแมลง นํ้า อาหารหรือท่อนํ้าทิ้ง

8. มาตรการป้องกันโรค : ลดการสัมผัสแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน เช่น การลดความแออัด และการมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี การล้างมือบ่อยๆ และการปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสมํ่าเสมอ

9. มาตรการควบคุมการระบาด : กรณีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ต้องรีบแจ้งสถานการณ์ของโรค และลักษณะของโรคให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทราบ เพื่อการเฝ้าระวังการระบาด รวมทั้งควรแยกผู้ป่วยและเด็กที่มีไข้สงสัยติดเชื้อไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ และระมัดระวังการสัมผัสนํ้ามูก นํ้าลาย หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย ถ้าพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน อาจพิจารณาปิดโรงเรียน/สถานศึกษาชั่วคราวเป็นเวลา 5 - 7 วัน เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส ทั้งในบ้านสถานศึกษา สถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าแนะนำให้ทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกปกติก่อนแล้วตามด้วยนํ้ายาฟอกผ้าขาว เช่น คลอร็อกซ์ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยนํ้าสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติและนำไปผึ่งแดด ลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค

เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คู่มือการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ. ใน: การตรวจวินิจฉัยโรคจากไวรัสกลุ่มเอนเตอโร. กระทรวงสาธารณสุข; 2552. หน้า 25.
2. Heymann DL., Editor, Control of CommunicableDiseases Manual 19th Edition, American Associationof Public Health, 2008.