จุลสารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย | ตุลาคม 2564




นายกสมาคมฯ เปิดใจแถลง

โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 

Screen_Shot_2562_02_03_at_22.27.24.png


ขณะนี้ย่างเข้าเดือนกันยายนของปี หวังว่าฝนกำลังจะสั่งลาจากไปแล้ว แต่หลายท้องที่ หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทุกปีที่มีน้ำท่วมขังตามที่ต่างๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาเตือนเรื่องโรคติดเชื้อระบาดที่มากับน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องร่วง ตาแดง ไข้เลือดออก น้ำกัดเท้า ฯลฯ ซึ่งพวกเราในพื้นที่ต่างๆ คงต้องเตรียมตัวรับมือกับโรคเหล่านี้นอกจากโรคโควิด-19

จากข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในช่วงปีนี้ จะเห็นว่ามีความน่าสะพรึงกลัวและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาวะดินถล่มและน้ำท่วมที่ประเทศญี่ปุ่น พายุที่เข้าทางภาคใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำท่วมใหญ่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ประเทศจีนและทวีปยุโรป ไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศในยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ(สหรัฐอเมริกา แคนาดา) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นหายนะของมนุษย์ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนอันเป็นผลจากน้ำมือของมนุษย์เราเอง เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพสมดุลย์ของธรรมชาติต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์แม้กระทั่งเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดโรคอุบัติใหม่ (EIDs) ต่อมนุษย์และสัตว์ต่างๆ จากปรากฏการณ์เหล่านี้พอจะคาดเดาได้ว่าโรคอุบัติใหม่ จะโจมตีชีวิตมนุษย์และสัตว์บ่อยมากขึ้นกว่าในอดีต จึงต้องเตรียมตัวรับมือไว้ให้พร้อมในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ สาธารณสุข ชุมชน สังคม ล้วนมีผลกระทบทั้งสิ้นดังตัวอย่างของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่รู้จะไปจบลงที่จุดไหน หรือเชื้อโรคก็อยู่ไป คนเราก็อยู่ไปเหมือนตัวอย่างของโรคไข้หวัดใหญ่ใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งคงทำให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่มากก็น้อย

โรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่มกราคม 2563 จนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 20 เดือนแล้ว ในฐานะที่เป็นแพทย์ด้านโรคติดเชื้อเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นการระบาด ข้อมูลทางวิชาการในเกือบทุกด้านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วข้อมูลของวัคซีนโควิด-19 ณ ปัจจุบันมีวัคซีนรูปแบบ (Platform) ต่างๆ เป็นร้อยชนิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในระยะต่างๆ รวมทั้งหลายชนิดที่ดำเนินการศึกษาวิจัยในประเทศไทย แต่มีวัคซีนโควิด-19 ไม่ถึง 10 ชนิดที่ผ่านการรับรองใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) ทั่วโลกหลังจากวัคซีนโควิด-19 กลุ่ม mRNA และชนิดอื่นๆ เริ่มใช้ประมาณกลางธันวาคม 2563 จนถึงบัดนี้ใช้ไปมากกว่า 5,400 ล้านโด๊สทั่วโลก สำหรับประเทศไทยฉีดไปแล้วประมาณ 35 ล้านโด๊ส(ณ. 5ก.ย.2564) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่มีในมือเรา ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนที่ใช้อยู่ทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงพอใช้ได้ แต่จากการระบาดของ SARs–CoV–2 สายพันธุ์ Delta ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่กำลังใช้ทั่วโลก ลดลงอย่างชัดเจน จึงเป็นความกังวลของทางการแพทย์ว่าต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น(เข็มที่ 3) ในช่วงเวลา 3 – 6 เดือนหลังเข็ม 2 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นในการต่อสู้กับสายพันธุ์ Delta ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามมีสายพันธุ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาใหม่ เช่น “สายพันธุ์มิว, C.1.2” โดยยังไม่ทราบว่าจะระบาดกว้างขวางรวดเร็วแค่ไหน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับยาต้านไวรัส (Antivirals) ต่อเชื้อ SARS-CoV-2 นั้น ปัจจุบันยังไม่มียาจำเพาะ ส่วนใหญ่พอใช้ได้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่ายังไม่สามารถสรุปได้แน่นอนว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ส่วน Monoclonal antibody เริ่มมีการใช้แล้วแต่ได้ผลในรายที่มีอาการน้อยถึงปานกลางและถ้าผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายอยู่แล้วก็จะไม่ได้ผลหรือได้ผลลดลง จึงดูเหมือนว่า Steroid จะเป็นยาตัวเดียวที่ผู้ป่วยอาการปานกลางถึงหนักที่ต้องการออกซิเจนในการรักษาจะได้ผลดีพอควร ดังนั้นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีจึงเป็นที่ต้องการทางการแพทย์อย่างมาก เพราะในอนาคตเมื่อป่วยจากโรคโควิด-19 (ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่) ก็จะมียารักษาให้หายได้

จากนั้นการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงในระลอกที่ 3 ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยจำนวนมาก แม้กระทั่งผู้ป่วยเด็กพบรายงานกว่า 150,000 รายแล้วในประเทศไทยแต่พบเสียชีวิตน้อยมาก ปัญหาการดูแลรักษาจึงเป็นภาระที่หนักสำหรับกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ดังนั้นคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และคณาจารย์ทุกท่าน ขอมอบกำลังใจ ความเห็นใจและคำขอบคุณแทนผู้ป่วยเด็กโรคโควิด-19 ทั้งหลายที่กุมารแพทย์ทุกท่านช่วยดูแลให้อย่างดี ผมขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิในสากลโลกจงดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายจงได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่นี้ให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและครอบครัวที่สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยทั้งปวง



ดาวน์โหลดจุลสาร - คลิกที่นี่