วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก


วัคซีนพื้นฐาน เป็นวัคซีนที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ เน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นหน่วยบริการหลัก


ปัจจุบัน เด็กไทยได้รับวัคซีนพื้นฐานอะไรบ้าง
 อายุ  วัคซีนที่ต้องได้รับ
 แรกเกิด  บีซีจี (BCG), ตับอักเสบบี (HB1)
 1 เดือน  ตับอักเสบบี (HB2) เฉพาะรายที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี
 2 เดือน  คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB1)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV1)
 4 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB2)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV2)
และโปลิโอชนิดฉีด (IPV) 1 เข็ม
 6 เดือน  คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB3)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV3)
 9-12 เดือน  หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR1)
 1 ปี  ไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE1)
 1 ปี 6 เดือน  คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP4), โปลิโอชนิดหยอด (OPV4)
 2 ปี 6 เดือน  หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR2), ไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE2)
 4 ปี  คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP5), โปลิโอชนิดหยอด (OPV5)
 11 ปี (นักเรียนหญิง ป.5)  เอชพีวี (HPV1, HPV2) ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน
 12 ปี (ป.6)  คอตีบ-บาดทะยัก (dT)

*ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในกลางปี 2562 จะใช้วัคซีนรวม 5 โรคที่มี คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ แทนวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี


วัคซีนบีซีจี สามารถป้องกันวัณโรคปอดได้หรือไม่
วัคซีนบีซีจี (BCG) เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลง ผลิตจากเชื้อ Mycobacterium bovis ฉีดให้เด็กแรกเกิดโดยฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง มักฉีดที่หัวไหล่ของเด็ก จุดประสงค์เพื่อป้องกันวัณโรคชนิดแพร่กระจาย และวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดได้อย่างสมบูรณ์

ควรตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนตับอักเสบบีหรือไม่ แนะนำในกลุ่มไหน
ในเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หลังจากได้รับวัคซีนครบแล้ว แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบบี ที่อายุประมาณ 9-12 เดือน เพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีจริง และยืนยันว่าไม่ติดไวรัสชนิดนี้ด้วย

วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน มีอาการข้างเคียงที่สำคัญอย่างไร
อาการข้างเคียงที่สำคัญหลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ คือ ไข้สูง ร้องกวน ตัวอ่อนปวกเปียก มักเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีน หากใช้วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์โอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้จะลดลง อาการทางสมองที่รุนแรง (encephalopathy) ที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนภายใน 7 วัน ถือเป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนไอกรนทุกชนิด แต่อย่างไรก็ตามพบได้น้อยมาก ให้ใช้วัคซีนคอตีบ บาดทะยักแทน แต่ถ้ามีอาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ทุกชนิด

ทำไมต้องฉีดวัคซีนโปลิโอตอนอายุ 4 เดือนร่วมกับหยอดโปลิโอด้วย
ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV) มีส่วนประกอบเป็นเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ 1 และ 3 เท่านั้น ไม่มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่ 2 เนื่องจากไม่พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ และคาดว่ากำจัดได้หมดแล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการระบาดใหม่ที่อาจพบได้จากเชื้อในธรรมชาติ จึงต้องรับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ที่มีทั้ง 3 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่า เมื่อให้ IPV 1 เข็ม ที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี จึงแนะนำให้เด็กอายุ 4 เดือน ที่รับวัคซีน OPV ต้องรับวัคซีน IPV ด้วย

วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ควรเริ่มให้อายุเท่าไหร่ กี่เข็ม
ปัจจุบันแนะนำให้เริ่มให้ MMR เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน-1 ปี การที่รับวัคซีนก่อนหน้าเร็วเกินไป วัคซีนจะไม่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันแม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ขัดขวางการสร้างภูมิในตัวของเด็ก เข็มที่สองให้เมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น ต่างจากชนิดเดิมอย่างไร
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีปัจจุบัน ผลิตจากไวรัสที่อ่อนกำลังลง นำมาทดแทนวัคซีนเดิมที่ผลิตมาจากเชื้อตาย วัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนกำลังต้องฉีด 2 เข็ม มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อตายที่ต้องฉีด 3 เข็ม และอาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ไข้ ปวดศีรษะ ลมพิษ หรือภาวะสมองอักเสบเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นนี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วัคซีนเอชพีวี สามารถให้ในเด็กชายได้หรือไม่
สามารถให้ได้ วัคซีนนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งที่ทวารหนักได้ แต่ปัจจุบันวัคซีนนี้ยังไม่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กชายไทย วัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์มีประโยชน์ในการป้องกันโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนักได้ด้วย

ถ้าได้รับวัคซีนไม่ครบ จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่หมดหรือไม่
ไม่ต้องเริ่มนับใหม่ ให้ฉีดต่อจนครบ

สามารถรับวัคซีนหลักได้ที่ไหนบ้าง
ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย