ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในฤดูฝน ฝนตกเกือบทุกวัน เด็กๆหลายคนก็ไม่สบายมีอาการไอ เจ็บคอ ไปหาหมอที่คลินิกทีไร ก็ได้ยา “ปฏิชีวนะ” มากินตลอด กินไปบางทีก็ยังไม่หาย ไอไม่หยุดเป็นสัปดาห์ บางทีกินสองวันดีขึ้นจึงเลิกกิน บางครั้งกินบ้างลืมบ้างก็มี แล้วจริงๆยาปฏิชีวนะสามารถรักษาไข้หวัดคออักเสบได้จริงหรือ? บทความนี้จะช่วยให้คำตอบได้
สาเหตุของอาการเจ็บคอ เกิดจากอะไร?
อาการคออักเสบเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย โดยในเด็กเล็ก มักมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสถึงร้อยละ 75-80 เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอมีหลายตัว ได้แก่ อะดีโนไวรัส (adenovirus), เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza), พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza), ไรห์โนไวรัส (rhinoviruses)
ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ สเตรปโตคอคคัสกรุ๊บเอ (group A streptococci) พบเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 20-30) ของการติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ พบได้น้อย ได้แก่ Mycoplasma pneumonia, Chlamydophila
อาการของไข้หวัดมีอะไรได้บ้าง?
ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อย เพลีย อาจมีไข้ มีอาการไอ มีน้ำมูก และมีอาการเจ็บคอ บางรายไม่มีอาการไอน้ำมูก มีแต่อาการไข้เจ็บคอเฉียบพลัน อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือตรวจพบต่อมทอนซิลโต มีจุดหนองบนต่อมทอนซิล
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย?ส่วนใหญ่การเป็นหวัดเจ็บคอมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสดังที่กล่าวข้างต้น แต่ประวัติบางอย่างหรืออาการบางอย่างก็ทำให้นึกถึงคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังรูปที่ 1 และ ตารางที่ 1
รูปที่ 1
ตารางที่ 1
สเตรปโตคอคคัสกรุ๊บเอ |
ไวรัส |
• อาการเกิดทันที
• อายุ 5-15 ปี (มักไม่พบก่อนอายุ 3 ปี)
• มีไข้
• คออักเสบและทอนซิลอักเสบ
• ทอนซิลมีหนอง
• มีจุดเลือดออกที่เพดานปาก
• ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านหน้าอักเสบ เจ็บ
• เป็นในช่วงฤดูหนาว
• มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ทราบว่าติดเชื้อ สเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอมาก่อน |
• มีตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ
• มีน้ำมูก คัดจมูก ไอจาม
• ท้องเสีย
• มีผื่น • มีแผลในปาก |
การรักษาไข้หวัดเจ็บคอมีอะไรบ้าง?
หากเป็นการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษาตามอาการได้ เพราะไม่มียาฆ่าไวรัสหวัด ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแพทย์อาจให้ถ้าสงสัย ร่างกายของเรามีภูมิต้านทานที่จะใช้กำจัดเชื้อไวรัส การรักษาตามอาการก็เหมือนเป็นแค่ “ตัวช่วย” บรรเทาอาการ ขณะที่ภูมิต้านทานของเรากำลังกำจัดเชื้อ จะเห็นว่ายาปฏิชีวนะไม่ใช่ “พระเอก” ในการรักษาเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส ยาบรรเทาอาการได้แก่ให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะ ฯลฯ ที่สำคัญต้องนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ภูมิต้านทานของเรามีพละกำลัง ดื่มน้ำมากๆ โดยทั่วไปอาการจะสามารถหายได้เอง ไม่ต้องใช้ยาใดๆ โดยจะดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์
หากเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อสเตร็ป โดยมีอาการดังตาราง ในกรณีนี้เองที่ยาปฏิชีวนะ จะมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยขัดขวางแบคทีเรียตัวร้ายและทำลายเชื้อ ร่วมกับภูมิต้านทานของตัวเราเอง โดยหากต้องกินยาปฏิชีวนะควรกินด้วยขนาดและเวลาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่กินๆหยุดๆเอง
ยาปฏิชีวนะต่างกับยาแก้อักเสบหรือไม่?
ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) อย่างที่หลายๆคนมักจะเรียกแทนกันด้วยความเข้าใจคร่าวๆว่า เมื่อฆ่าเชื้อแล้วจะทำให้การอักเสบลดลง แต่ที่จริงแล้วยาปฏิชีวนะหมายถึงยาที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ โดยแบคทีเรียแต่ละกลุ่มก็จะตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะแตกต่างกัน ตัวอย่างยาปฏชีวนะเช่น อะม็อกซีซิลลิน เพนนิซิลลิน ในขณะที่ยาแก้อักเสบคือยาที่ใช้ลดอาการอักเสบของร่างกาย เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ตัวอย่างยาที่ใช้กันบ่อยๆเช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน
เมื่อไหร่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในการรักษาโรคหวัด เจ็บคอ
โรคหวัดส่นใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นยาปฏิชีวนะซึ่งฆ่าเชื้อแบคทีเรียจึงไม่ทำให้หายเร็วขึ้น (เว้นแต่จะเป็นโรคเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปมีอาการดังข้างต้นเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากยาปฏิชีวนะ) อย่างไรก็ดี หลายๆครั้งโรคหวัดที่จากเชื้อไวรัสนี้ มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ซึ่งอาจต้องการยาปฏิชีวนะในการรักษา เช่นกรณีที่เกิดเป็นหูอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งควรต้องให้แพทย์วินิจฉัย ก่อนจะใช้ยาปฏิชีวนะ
หากให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้เกิดผลเสียอย่างไร?
ยาปฏิชีวนะหลายตัวมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย บางกลุ่มทำให้เกิดอาการท้องเสีย บางกลุ่มเป็นพิษต่อตับ ไต ในบางรายอาจมีปฏิกิริยาภูมิแพ้จากยา ทั้งแบบไม่รุนแรง หรือรุนแรงถึงชีวิต นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ยังทำลายแบคทีเรียตัวดี ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราด้วย แบคทีเรียที่เก่งกาจทนต่อยา ก็จะพัฒนาตัวเองไปเป็น “เชื้อดื้อยา” ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น
มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งหรือเปล่า?
การเกิดน้ำมูกเปลี่ยนสี จากใสๆเป็นเขียวข้นหรือสีเหลือง ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสมอไป ในบางรายที่มีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ก็อาจมีอาการเสมหะเหนียวข้นเขียวได้ หรือแม้กระทั่งเชื้อไวรัส ก็สามารถทำให้เกิดน้ำมูกเขียวได้ ดังนั้น การมีน้ำมูกเขียว ไม่ได้แปลว่าจะต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้ง โดยแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อให้การวินิจฉัย หากมีข้อบ่งชี้จะจ่ายยาอย่างเหมาะสม
สามารถป้องกันโรคหวัดได้อย่างไร
การรักษาร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอยู่ห่างไกลคนป่วย หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนมากๆ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะสามารถป้องกันโรคหวัดจากไข้หวัดใหญ่ได้