ภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)


หูชั้นกลางอักเสบคืออะไร
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของหูชั้นกลางซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นใน พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากรูปร่างและการทำงานของท่อยูสเตเชียนรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันโรคยังไม่สมบูรณ์


สาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบเกิดจากอะไร
สาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามหลังการติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เชื้อโรคมักจะผ่านจากจมูกและโพรงหลังจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง โดยในเด็กเล็กท่อยูสเตเชียนมักจะสั้นและอยู่ในแนวขนานกับแนวราบซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ทำให้เชื้อโรคจากจมูกและโพรงหลังจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 6-20 เดือน


อาการและอาการแสดงของโรคหูชั้นกลางอักเสบมีอะไรบ้าง
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูข้างที่เป็นร่วมกับมีไข้ โดยในเด็กเล็กอาจจะมีอาการกระวนกระวาย ดึงใบหูข้างที่ปวด รับประทานอาหารลดลง ส่วนในเด็กโตอาจจะรู้สึกแน่นๆภายในหูหรือมีเสียงดังในหูได้

อาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับตรวจพบเยื่อแก้วหูแดงและบวม โดยเยื่อแก้วหูมักจะโป่งออกมาจนไม่สามารถเห็นโครงสร้างปกติภายในหูชั้นกลางได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเยื่อแก้วหูทะลุร่วมกับมีน้ำหนอง เลือด หรือหนองปนเลือดไหลออกจากหู บางรายอาจมีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณกระดูกกกหูร่วมด้วย

รักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบได้อย่างไร
  1. การรักษาด้วยยา
    a. รับประทานยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ที่เหมาะสม เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ซึ่งควรรับประทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 – 14 วัน
    b. รับประทานยาแก้แพ้ (antihistamine), ยาลดบวม, ยาหดหลอดเลือด (oral decongestant) และพ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (topical decongestant) เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม
    c. รับประทานยาแก้ปวด หรือลดไข้เท่าที่จำเป็น 
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด
    a. การเจาะเยื่อแก้วหูและใส่ท่อระบาย เพื่อระบายหนองในหูชั้นกลางออก มักทำในรายที่ให้ยาปฏิชีวนะเต็มที่แล้วอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือต้องการหนองไปย้อมเชื้อ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน หลังเจาะเยื่อแก้วหูและใส่ท่อระบายแล้วเยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
    b. การผ่าตัดโพรงกระดูกกกหู มักทำในกรณีที่มีการอักเสบหรือมีหนองขังในโพรงกระดูกกกหู
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูชั้นกลางอักเสบมีอะไรบ้าง
เยื่อแก้วหูทะลุเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กระดูกกกหูอักเสบ เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ หูชั้นในอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และฝีในสมองเป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเกิดปัญหาระยะยาว เช่น การได้ยินลดลง พัฒนาการด้านภาษาและการเรียนรู้ช้าเป็นต้น

การป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันทำได้อย่างไร
สามารถทำได้โดยการระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และป้องกันการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค เช่น การรับประทานนมแม่ ลดการรับประทานนมด้วยขวดนมขณะหลับ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุหรี่ หรือการรับวัคซีนป้องกันการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ และวัคซีนนิวโมคอคคัส เป็นต้น