โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และชี้ให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองจากการติดโรค รวมถึงการขาดความตระหนักถึงอันตรายของโรค สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราป่วยเพิ่มจาก 19 รายต่อประชากรแสนคนในปีพ.ศ. 2556 เป็น 23.2 รายและ 28.9 รายต่อประชากรแสนคนในปีพ.ศ. 2558 และ 2560 ตามลำดับ โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15–24 ปีมีสัดส่วนการป่วยมากที่สุด

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้สำหรับประชาชน ให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย อันนำไปสู่การลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร ?
คือกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคหรือคนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก เดิมมีชื่อว่า “กามโรค” (venereal diseases) ในปัจจุบันมีการค้นพบโรคในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (sexually transmitted infections, STIs) โรคที่สำคัญคือ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม และเอชพีวี


สาเหตุเกิดจากเชื้ออะไร ? หลังรับเชื้อนานเท่าไรจึงจะมีอาการป่วย (ระยะฟักตัว) ?

ชื่อโรค

สาเหตุ

ระยะฟักตัว

ซิฟิลิส

เชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum

10 – 90 วัน (เฉลี่ย 21 วัน)

หนองในแท้

เชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae

2 – 7 วัน

หนองในเทียม

เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis

เฉลี่ย 7 วัน

เริม

เชื้อไวรัส Herpes simplex virus

2 – 14 วัน

เอชพีวี

เชื้อไวรัส Human papilloma virus

3 เดือน จนถึงหลายปี



อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นอย่างไร ? 

ชื่อโรคติดต่อ

อาการโรค

ซิฟิลิส

ระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศ เป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ ถ้าไม่ได้รักษา แผลจะหายได้เอง แต่โรคจะดำเนินต่อไป มีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก ผมร่วง ปวดข้อ ถ้ายังไม่ได้รักษาอีก โรคจะเข้าสู่ระยะสงบ ไม่มีอาการ ทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น หลังจากนั้นอีกหลายปีจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค มีผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตในที่สุด

หนองในแท้

ผู้ป่วยชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาว ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ท่ออสุจิตีบตัน ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นหมัน ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ ปวดตามข้อ

หนองในเทียม

มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองใสไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ บางรายอาจไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้

เริม

มีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกลุ่ม ร่วมกับอาการปวด แสบ และคันบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก บางรายมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปาก ในช่องปาก เมื่อมีการติดเชื้อเริมแล้วเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายอ่อนแอจะสามารถทำให้เกิดโรคเริมกำเริบขึ้นได้

เอชพีวี

ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหลังติดเชื้อ จะแสดงอาการหลังติดเชื้อได้ 2 ลักษณะคือ อาการหูดหงอนไก่ มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อ ผิวขรุขระ และไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และอาการของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก



ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?
คนที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย มีคู่นอนหลายคน อายุน้อย ไม่ใส่ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด


สามารถติดโรคจากคนที่ไม่มีอาการ ภายนอกดูแข็งแรงปกติ ได้หรือไม่ ?
ในบางระยะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนได้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยแม้เพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเชื้อเอชไอวีได้


จะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?
เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย 


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และให้ความสำคัญกับการพาคู่นอนมารับการตรวจรักษา ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต 


วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง ?
  1. การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  2. การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  3. การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี