โรคไข้ซิกา


พญ.ชนิตา พิชญ์ภพ
ผศ.ดร.นพ. นพพร อภิวัฒนากุล
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

โรคไข้ซิกาคืออะไร
โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2490 ในป่าซิกา ประเทศยูกันดา ซึ่งไวรัสซิกาเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single-stranded RNA) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค


ไวรัสซิก้า (Zika virus; ZIKV) แพร่กระจายได้อย่างไร
  1. เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด
  2. การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด 
  3. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา

หลังได้รับเชื้อนานเท่าไรจึงมีอาการป่วย (ระยะฟักตัวของโรค)
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสซิกา สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 4-7 วัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วง 2-5 วันแรก


อาการเป็นอย่างไร
อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ(ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ  อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วงซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท (Guillain-Barre syndrome) ซึ่งพบได้ราว 24:100,000  โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาจะไม่แสดงอาการก็ได้


หากมีการติดเชื้อในผู้ป่วยตั้งครรภ์ จะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร
ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะพบการเกิด ภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly) ได้ ไม่ว่ามารดาจะติดเชือ้ไวรัส Zika ในช่วงไตรมาสที่ 1, 2 หรือ 3 และเกิดความผิดปกติได้แม้มารดาไม่มีอาการผิดปกติ     โดยไวรัสจะเพิ่มจำนวนขึ้นภายในเซลล์ประสาทที่ตำแหน่ง neural progenitor cells ทำให้เซลล์ประสาทตั้งต้นถูกทำลาย จึงไม่เกิดการเพิ่มจำนวน (neuronal proliferation) การเคลื่อนย้าย (migration) และการพัฒนาเปลี่ยนแปลง (differentiation) ของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์สมองของทารกที่ติดเชื้อไม่มีการเจริญเติบโต เกิดสมองพิการแต่กำเนิดส่งผลต่อการได้ยิน การมองเห็น พัฒนาการและสติปัญญา


เราจะวินิจฉัยโรคไข้ซิกาได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะพิจารณาจากอาการทางคลินิก และการทดสอบทางห้องปฏิบัติการโดยใช้สิ่งส่งตรวจ เช่น เลือด ปัสสาวะ นํ้าลาย โดยการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อยืนยันการวินิจจัย ด้วยวิธี Reverse Transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) และการตรวจหาภูมิคุ้มกัน(IgM) ด้วยวิธี ELISA หรือ immunofluorescence


สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (congenital Zika syndrome) ต้องส่งตรวจดังนี้
  • ส่งเลือดของทารกและมารดาตรวจ ZIKV IgM และ Dengue IgM หาก ZIKV IgM ให้ผลลบ ให้เก็บ plasma ครั้งที่สอง ของทารกอีกครั้ง ในอีก 3-4 สัปดาห์ เพื่อตรวจ ZIKV IgG และ Dengue IgG  
  • ส่งปัสสาวะและเลือดของทารกและมารดา เพื่อส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส Zika โดยวิธี RT-PCR ถ้าทารกได้ทำการตรวจน้ำไขสันหลังตรวจ RT-PCR และ ZIKV IgM ด้วย
ในการเก็บตัวอย่างเลือดควรเก็บตัวอย่างภายในอายุ 2 วันแรก ไม่แนะนำให้เก็บเลือดจากสายสะดือ (cord blood) เพราะจะให้เกิดผลบวกลวง (false positive) ได้ 


ทารกใดบ้างต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส Zika
  1. ทารกที่คลอดจากมารดาที่ยืนยันหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้ออไวรัส Zika
  2. ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน ที่ตรวจพบความผิดปกติ ที่สงสัยว่าอาจเป็น congenital Zika syndrome

โรคไข้ซิการักษาอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา การรักษาหลักคือการรักษาตามอาการ เช่นใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวดพาราเซตามอล

ส่วนการดูแลรักษาภาวะ congenital Zika syndrome คือ การติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อประเมินความผิดปรกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการ โดยกุมารแพทย์หรือแพทย์ทั่วไป นัดที่อายุ 1, 2, 3, 4, 6, 9, 12, 18 และ 24 เดือน รวมทั้งประเมินการดูดกลืน การสำลัก การนอนหลับ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น อาการชัก  มีการประเมินตรวจการได้ยิน (ABR) ภายในอายุ 1 เดือนแรก และอายุ 4-6 เดือน ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ที่แรกเกิดและอายุ 3 เดือน หากทารกมีความผิดปกติของการมองเห็นหรือการได้ยินให้รีบส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด


เราจะป้องกันการติดเชื้อไวรัส Zika ได้อย่างไร 
  1. ป้องกันการถูกยุงกัด
    - สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อปกคลุมผิวหนัง โดยใช้เสื้อผ้าสีสว่าง ถ้าทำไม่ได้ควรทายากันยุงป้องกัน
    - นอนกางมุ้ง และติดมุ้งลวดที่ประตู หน้าต่าง
    - กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือครอบฝาภาชนะที่สามารถบรรจุ น้ำเช่น กระถางต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  2. ในผู้ได้รับวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัส Zika ควรมีการป้องกันที่เหมาะสมหากมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 1 เดือน
  3. ปรึกษาแพทย์ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ หรือไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ