เกาะติดสถานการณ์เมอรส์ โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่


สหรัฐพบผู้ป่วยที่เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลรายที่สอง (13 พฤษภาคม 2557)

รายงานล่าสุดการระบาดของโรคเมอรส์ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย (15 พฤษภาคม 2557) มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 495 ราย เสียชีวิตแล้วจำนวน 152 ราย

หลังจากค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปีคศ. 2012 และองค์กรณ์อนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นไวรัสที่ติดต่อจากคนสุ่คนที่พบมากที่สุดในเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลซึ่งพบได้มากถึง 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด

สถานการณ์การติดเชื้อเมอร์สไวรัสสายพันธุ์ใหม่
กันยายน 2012, เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย รายงานการตรวจพบเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่เป็นครั้งแรก จากเสมหะของผู้ป่วยที่อาการปอดอักเสบ และไตวายเฉียบพลัน ซึ่งได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2012 หลังจากนั้นมีตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าวได้จากผู้ป่วยรายใหม่ที่มีอาการเจ็บ ป่วยคล้ายกับผู้ป่วยรายแรก แต่ได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวกาตาร์มีประวัติการเดินทางไปเที่ยวที่ซาอุดิอาระ เบีย

ข้อมูลในปัจจุบัน (15พฤษภาคม 2014)
  • มีการตรวจพบผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 495 ราย
  • เสียชีวิตจำนวน 152ราย
  • อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 30.7 (152/495)
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ของผู้ป่วยที่รายงานทั้งหมดทั่วโลก
  • มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ จอร์แดน กาตาร์ ตูนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต

ข้อมูลจากยุโรปและตูนิเซียพบว่า
  • ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศในตะวันออกกลาง
  • มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนอย่างจำกัด เฉพาะผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเท่านั้น
  • ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการรุนแรง
  • มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง (ประมาณร้อยละ 55)
  • กลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยชนิดรุนแรง คือผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
  • เบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ลักษณะของเมอรส์ โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะ มีอาการแสดงคล้ายโรคซารส์ (SARS) ที่เคยระบาดมาก่อน แต่เชื้อที่ทำให้ก่อโรคมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน จากการศึกษาทางพันธุวิทยาของเมอร์ส พบว่ามีความใกล้ชิดกับโคโรน่าไวรัสของค้างคาว แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปถึงวิธีการติดต่อ และแหล่งโรคได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสัตว์ชนิดใด


Capture_92_.jpg


เชื้อไวรัสโคโรนา ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ในตระกูล Coronaviridaeซึ่งประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยหลายชนิด สามารถทำให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ เช่น หนู สุนัข แมว กระต่าย ไก่ วัว กระบือ สุกร ขณะนี้ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในคนที่รู้จักมี 6 ชนิด โดย 4 ชนิดทำให้เกิดโรคไข้หวัด และอีก 1 ชนิดทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “โรคซาร์ส”


มีรายงานการระบาดของเชื้อ โดยการติดต่อจากคนสู่คน
พบว่ามีการระบาดของเชื้อเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล บริเวณภาคตะวันออกของประเทศซาอุดิอาระเบีย
มีผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ ได้แก่ ญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ห้องไตเทียม รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยด้วย และผู้ที่ติดเชื้อมีอาการแสดงที่รุนแรงมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

ระบาดวิทยา

  • เชื้อโคโรนาไวรัสโดยทั่วไปพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอบอุ่น
  • มักพบในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ
  • พบได้ในทุกกลุ่มอายุ 
  • มีการติดต่อคล้ายกับโรคทางเดินหายใจ คือ ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ จากการไอ หรือหายใจรดกัน หรือจากมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก หรือตา
  • มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-4 วัน ส่วนเชื้อก่อโรคซาร์สมีระยะฟักตัว 4-7 วัน (อาจนาน 10-14 วัน)
  • หากไวรัสอยู่ภายนอกร่างกายจะสลายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง และถูกทำลายได้ด้วยสารซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาด
  • จากการศึกษาวิจัยพบว่า สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว
  • ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ทั้งระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ โดยพบว่า ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ถึงร้อยละ 35 มีอาการได้ตั้งแต่ ระดับน้อยเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา จนถึงระดับรุนแรง (โรคซาร์ส) ทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด ระบบการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

Capture_93_.jpg

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วย 
ผู้ป่วยมักจะมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่น มีไข้ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ หรือบางคนอาจจะมีอาการของปอดอักเสบ เช่น หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีระบบหายใจล้มเหลวได้ และจากรายงานของกลุ่มผู้ป่วยยังสามารถพบ อาการและอาการแสดงทางอวัยวะอื่นได้ เช่น อาการไตวายเฉียบพลัน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้

ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อยังไม่ทราบแน่นอน แต่อยู่ในช่วงประมาณ 1-12 วัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานควบคุมโรคและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ให้คำแนะนำ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางให้สังเกตอาการภายในระยะเวลา 14 วัน


การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคนอกจากอาการและประวัติดังกล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัย WHO และ CDC ให้คำแนะนำในการส่งสิ่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ดังนี้

การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส โดยวิธี real-time reverse-transcriptase polymerase chain reaction หรือ rRT-PCR จากสิ่งส่งตรวจ ซึ่งเก็บจากบริเวณต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เสมหะทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งเก็บจาก
  • การดูดสารคัดหลั่งจากหลอดลม (Tracheal aspiration)
  • น้ำล้างถุงลมและหลอดลมฝอย (Bronchoalveolar lavage fluid)
  • เสมหะทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเก็บจาก
  • การป้ายเก็บสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูกและคอ (Nasopharyngeal and throat swab)
  • การดูดสารคัดหลังจากช่องโพรงจมูก (Nasopharyngeal aspiration)
  • อุจจาระในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย
  • เลือด น้ำเหลือง ซึ่งใช้เป็นตัวช่วยเสริม แต่ยังไม่ทราบความแม่นยำในการวินิจฉัย
  • การส่งสิ่งส่งตรวจโดยเก็บตัวอย่างจากตำแหน่งต่างๆ ที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จะช่วยเพิ่มความไวในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น


การเก็บเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในเลือด (Serology testing) โดยเก็บในช่วงที่เป็นในระยะเริ่มแรก และหลังจากมีอาการแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์


ใครบ้างที่ต้องพิจารณาส่งตรวจดังกล่าว
  • ผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ คือ มีไข้สูงมากกว่า 38 °C ไอ สงสัยมีปอดอักเสบ รวมทั้งภาพรังสีปอดมีความผิดปกติ และมีประวัติเดินทางหรือท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศใกล้เคียง ภายในระยะเวลา 14 วัน และไม่สามารถอธิบายสาเหตุอาการป่วยของผู้ป่วยได้
  • ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจรุนแรง ซึ่งมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ หลังจากเดินทางไปหรือท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางภายใน 14 วัน


ใครบ้างที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังจากเดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาระเบีย (ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ เยเมน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรต คูเวต อิรัค อิสราเอล ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน ) โดยที่จำเป็นต้องแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย


การรักษา
ให้การรักษาแบบประคับประคองและตามอาการ เหมือนการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสในการรักษาผู้ป่วย และขณะนี้ไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา


การป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ เช่น ผู้ที่มีไข้ ไอ น้ำมูก
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด หรือที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก
  • ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของโรคทางเดินหายใจ
  • ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากเชื้อพบได้ทั้งในอากาศ น้ำมูก และเสมหะ ซึ่งอาจปนเปื้อนที่มือของผู้ที่ติดเชื้อแล้วไปจับสิ่งของหรือวัตถุทั่วไป
  • เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลาง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปศุสัตว์มีชีวิต หรือ สัตว์ป่า ในกรณีที่เดินทางไปในประเทศในตะวันออกกลาง

การควบคุมการติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อนี้มีความรุนแรงสูง CDC ได้ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
  • ให้ทำการเฝ้าระวังในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากก่อให้เกิดความทุพลภาพ และเสียชีวิตได้สูง
  • หลักฐานของการติดเชื้อจากคนสู่คนยังมีค่อนข้างจำกัด
  • โรคมีอาการและอาการแสดงไม่จำเพาะ
  • ยังไม่ทราบถึงช่องทางในการติดเชื้อดังกล่าว
  • ยังไม่มียาในการรักษาและวัคซีนในการป้องกัน
  • หน่วยงานที่สามารถตรวจหาไวรัสดังกล่าวยังค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด ซึ่งในประเทศไทยสามารถส่งตรวจได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรคพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คำแนะนำสำหรับสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
  • ในกรณีที่มีผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อดังกล่าวควรแยกผู้ป่วยไว้ในพื้นที่พิเศษ สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีการแพร่เชื้อโรคทางอากาศ (Airborne Isolation)
  • สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ควรป้องกันการติดเชื้อโดยใช้อุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ 
  • แว่นตาหรือ หน้ากากป้องกันใบหน้า
  • สวมหน้ากาก N95 สำหรับป้องกันการติดเชื้อทางการหายใจ
  • สวมถุงมือ และสวมเสื้อกาวน์ทุกครั้ง
  • ปฏิบัติตามมาตรฐานการล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลังจาการถอดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ

คำแนะนำเพื่อการป้องกันตนเอง สำหรับผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ
  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ถ้าไม่มีน้ำและสบู่สามารถใช้แอลกอฮอล์ล้างมือใช้แทนได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส ตา จมูกและปาก เนื่องจากเชื่อแพร่ผ่านช่องทางเหล่านี้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเองว่าเป็นอย่างไร
  • อาจจะต้องไปพบแพทย์ก่อนเดินทางอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ เพราะหากในเวลานั้นสามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้สำเร็จจะได้ดำเนินการฉีดก่อนเดินทาง
  • ถ้ารู้สึกว่าตนเองป่วยให้ปฏิบัติตัวดังนี้
  • ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู และทิ้งกระดาษที่ใช้แล้วลงในถังขยะ
  • ควรระมัดระวังที่จะแพร่เชื้อของตนเองไปสู่ผู้อื่น

ที่มา: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ