โดย กรรณิการ์ หมอนพังเทียม, บริมาศ ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, สิริลักษณ์ รังสีวงศ์
สำนักระบาดวิทยา Bureau of Epidemiology
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อ “อี-โคไล” ในประเทศเยอรมนี สเปน สวีเดน อังกฤษ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และเนเธอแลนด์ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยมากกว่า 1,500 ราย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย พบผู้ป่วย 470 ราย มีอาการระบบไตล้มเหลวรุนแรง โดยเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล ชนิดผลิตสารพิษชิก้า Shigatoxin-producing E. coli (STEC) ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวายHaemolytic uraemic syndrome (HUS) สาเหตุการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย อี-โคไล ยังไม่สามารถระบุได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่ผักและสินค้าสลัดอาจเป็นสาเหตุของการระบาด เนื่องจากปุ๋ยมูลสัตว์ที่ใช้ในการเพาะปลูก
ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุเชื้ออี-โคไลที่พบใหม่กลายพันธุ์แตกต่างจากเชื้ออี-โคไลที่เคยพบก่อนหน้านี้ 2 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นอันตรายและเป็นพิษสูง อาการป่วย คือ ท้องเสียรุนแรงขั้นตกเลือดและตับถูกทำลาย วิธีการทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การทำให้ร้อน (ปรุงสุกหรือ pasteurization) หรือ การฉายรังสี
องค์การอนามัยโลกได้เตือนประเทศสมาชิกและให้ข้อแนะนำ 4 ข้อ คือ 1. ให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล 2. ให้ประเทศสมาชิกทำการค้นหาผู้ป่วยและแจ้งให้ทราบ 3. ให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ 4. แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการป้องกันโรคและเฝ้าระวังทางสุขาภิบาล
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังและเตรียมการรับมือเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ดังนี้
1. เฝ้าระวังผู้ป่วยจากต่างประเทศ ณ ด่านป้องกันและควบคุมโรคระหว่างประเทศ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2. กรมควบคุมโรคมอบหมายให้สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เตรียมเฝ้าระวังผู้ป่วยภายในประเทศ ศึกษาและติดตามข้อมูลจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
3. หากสถานการณ์ในยุโรปยังขยายวงกว้าง เช่น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรือขยายการแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมากขึ้น กรมควบคุมโรคก็จะขยายมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคเพิ่มขึ้น
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล ชนิด โอ104 ผลิตสารพิษชิก้า (STEC) นี้ มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน ส่วนใหญ่จะหายภายใน 10 วัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายทำให้เสียชีวิตในที่สุด อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 5 ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ช็อกหมดสติได้ อย่างไรก็ตามโรคนี้รักษาได้และสามารถป้องกันได้ เชื้อนี้จะถูกทำลายด้วยความร้อนตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยการปรุงสุก สำหรับผู้ที่มีประวัติ รับประทานอาหารจากประเทศเยอรมนี หรือเคยเดินทางไปเยอรมนี ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดถึงปัจจุบัน (กลางเดือนพฤษภาคม) และมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดควรรีบไปพบแพทย์ด่วน พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบและไม่ควรรับประทานยาระงับการถ่าย อุจจาระหรือยาปฏิชีวนะ การรับประทานยานี้จะทำให้อาการป่วยแย่ลง สำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กช่วงนี้เร่งดูแลความสะอาดส่วนบุคคล กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
อ้างอิงจาก
http://www.ddc.moph.go.th/pnews/showimgdetil.php?id=284 [cited 3 June 2011]
http://www.ddc.moph.go.th/pnews/showimgdetil.php?id=285 [cited 3 June 2011]
เหตุระบาด ‘อีโคไล’ ป่วนชาติยุโรป. หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2554 หน้า 9.
WHO ชี้ ‘อีโคไล’ อันตรายสูง เยอรมันแนะงดบริโภคผักสด. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2554 หน้า 2.
จาก รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 42 ฉบับที่ 21 : 3 มิถุนายน 2554 (http://www.boe.moph.go.th)