Monkeypox โรคฝีดาษวานร



พญ.พักต์เพ็ญ สิริคุตต์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี


ขณะนี้มีโรคระบาดใหม่ คือ โรคฝีดาษวานร (
monkeypox) ซึ่งกำลังระบาดหนักอยู่ในแถบทวีปยุโรป และอเมริกา ปกติโรคนี้มีแหล่งอยู่ที่ทวีปแอฟริกากลาง และ แอฟริกาตะวันตกเป็นหลัก แต่การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นนอกพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากทุกคนเพิ่งได้ผ่านเหตุการณ์การระบาดหนักของโรค 2019 Coronavirus disease (COVID-19) ทำให้ทุกคนวิตกกังวลว่าโรคนี้จะเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกหรือไม่ บทความนี้จึงจะกล่าวถึงรายละเอียดของโรค monkeypox ในแง่ของระบาดวิทยา ลักษณะอาการทางคลินิก การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค

ระบาดวิทยา

เชื้อไวรัส monkeypox เป็นเชื้อที่มาจากสัตว์ แต่สามารถก่อโรคในคนได้ ค้นพบครั้งแรกในลิง ในปี พ.ศ.2501 ที่ราชอาณาจักรเดนมาร์ก เนื่องจากโรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคฝีดาษ (smallpox) มาก แยกได้ยากจากลักษณะอาการทางคลินิก จึงมีรายงานโรคอีกครั้งหนึ่งในคน หลังจากที่โรค smallpox ได้ถูกกวาดล้างจากโลกไปแล้ว โดยโรค monkeypox ได้เริ่มมีการรายงานการระบาดในคน ในปี พ.ศ.2513 ที่ทวีปแอฟริกากลาง และ แอฟริกาตะวันตก โดยประเทศที่พบมากที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งการระบาดครั้งนี้พบผู้ป่วยมากถึง338 ราย ประมาณร้อยละ 70 เป็นการแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน (1, 2)

พื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญของโรค monkeypox คือ พื้นที่แถบทวีปแอฟริกากลาง และ แอฟริกาตะวันตก (2) ซึ่งหลังจากปี พ.ศ.2513 การระบาดของโรค monkeypox ยังคงเกิดขึ้นใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และทวีปแอฟริกาตอนกลาง และตะวันตกเป็นระยะๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2546 มีการระบาดนอกพื้นที่ของทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก ในแถบซีกโลกตะวันตก พบผู้ป่วยทั้งหมด 47 ราย ซึ่งได้รับเชื้อจากกระรอกพันธุ์ prairie dogs ซึ่งได้รับเชื้อมาจากกระรอก และหนูจากสาธารณรัฐกานาอีกทอดหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไม่มีการระบาดของโรคนอกพื้นที่เสี่ยงอีกเลยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีแต่รายงานนักท่องเที่ยวที่ไปรับเชื้อจากพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะๆ (1, 2)

อย่างไรก็ตามในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานการระบาดโรค monkeypox นอกพื้นที่เสียงอีกครั้ง โดยจากข้อมูล ตั้งแต่ 13 26 พฤษภาคม พ.ศ.2565 พบผู้ป่วยจากทั้งหมด 23 ประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรค ส่วนใหญ่อยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปยุโรป (รูป 1) จากข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2565 พบผู้ป่วยโรค monkeypox สะสม ที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วทั้งหมด 257 คน ผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยกำลังได้รับการตรวจยืนยัน 120 คน พบมากที่สุดที่สหราชอาณาจักร จำนวน 106 คน รองลงมาคือ สาธารณรัฐโปรตุเกส 49 ราย โดยที่ผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในผู้ป่วยเหล่านี้ (3)

นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ถึง 29 พฤษภาคม พ.ศ.2565 องค์การอนามัยโลกยังได้รับรายงานการระบาดหนักในประเทศแถบแอฟริกากลาง และตะวันตก พบผู้ป่วยสูงถึง 1365 คน มีผู้เสียชีวิต 69 คน โดยประเทศที่พบมากที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จำนวน 1248 คน เสียชีวิต 58 คน (3)

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for disease control and prevention, U.S. CDC) ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2565 มีรายงานผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา กระจายตามรัฐต่างๆ ทั้งหมด 21 คน พบมากที่สุดที่นครนิวยอร์ก 4 คน รองลงมา คือ รัฐแคลิฟอร์เนีย 4 คน (รูป 2) (4)

รูป 1 แผนที่แสดงการระบาดของโรค monkeypox ในพื่นที่นอกเขตที่เป็นแหล่งรังโรค ตั้งแต่วันที่ 13 26 พฤษภาคม พ.ศ.2565 (3)
1_2.jpg


รูป 2 แผนที่แสดงการระบาดของโรค monkeypox ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2565 (4)
2_2.jpg

เชื้อก่อโรค

โรค monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัส monkeypox เป็นเชื้อชนิด double-stranded DNA ถูกหุ้มด้วย envelop และอยู่ใน genus Orthopoxvirus ซึ่งเป็น genus เดียวกับเชื้อก่อโรค smallpox นั่นเอง (1)

การติดต่อ (1, 2)

เชื้อไวรัส monkeypox สามารถแพร่กระจายสู่คนได้ 2 ทาง คือ

1) จากสัตว์สู่คน ผ่านทางการสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง หรือสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งของสัตว์ที่เป็นโรค ซึ่งสัตว์ที่เป็นแหล่งโรค monkeypox ได้แก่ หนูพันธุ์ arboreal และ terrestrial rodents กระรอกพันธุ์ rope squirrels (Funisciurus anerythrus), tree squirrels และ ลิง

2) จากคนสู่คน ผ่านทางการสูดดมละอองฝอยขนาดใหญ่จากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย (respiratory droplets) หรือป่านทางการสัมผัสรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วยโดยตรง

โดยผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อตอนที่ผื่นเริ่มขึ้น และตลอดช่วงระยะเวลาของผื่น (5) อัตราการติดต่อสู่ผู้สัมผัสที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนประมาณร้อยละ 9 (6)

พยาธิสรีรวิทยา (6)

เชื้อไวรัส monkeypox เข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังที่มีบาดแผล และเยื่อบุต่างๆ หลังจากนั้นเชื้อไวรัสก็แพร่เข้าสู่ระบบน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เกิดเป็น primary viremia และเข้าสู่ระบบ reticuloendothelial system เพื่อแบ่งตัวให้มีจำนวนมากขึ้น ก่อให้เกิด secondary viremia และกระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ผิวหนัง

ลักษณะทางคลินิก (1, 2, 5)

ลักษณะอาการของโรค monkeypox จะคล้ายคลึงกับโรค smallpox มาก แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า โดยมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

อาการนำ: ในช่วง 2 วันแรก ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต โดยที่อาการต่อมน้ำเหลืองโตจะเป็นอาการที่จำเพาะสำหรับโรค monkeypox เท่านั้น ไม่พบในโรค smallpox หรือ โรคสุกใส (varicella zoster) ลักษณะจะเป็นแบบโตข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ พบได้ที่ตำแหน่ง submandibular, cervical, postauricular, axillary, inguinal อาการอื่นๆที่พบได้ คือ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ปวดหลัง เจ็บคอ และไอ

อาการทางผิวหนัง (รูป 3): จะพบหลังจากมีไข้ประมาณ 2 วัน โดยผื่นก็จะเริ่มเกิดที่บริเวณใบหน้าก่อน ตามด้วยกระจายไปบริเวณแขนขา ศีรษะ ลำตัว และฝ่ามือฝ่าเท้า ตามลำดับ โดยผื่นจะกระจายไปทั่วทั้งตัวภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยจะหนาแน่นที่บริเวณ ใบหน้า และ แขนขา (centrifugal distribution) ผื่นส่วนใหญ่จะกระจายทั่วๆ ส่วนน้อยที่จะกระจายแบบ semiconfluent หรือ confluent โดยลักษณะของผื่นจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกัน เริ่มต้นจาก enanthem พบที่ ลิ้น และในโพรงปาก ตามด้วย macules, papules, vesicles และ กลายเป็น pustules ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น 2 4 สัปดาห์ ผื่นก็จะตกสะเก็ด และลอกหลุดไปในที่สุด หลังจากที่ผื่นหลุดลอกไป บางรายยังหลงเหลือรอยดำอยู่ได้ นอกจากรอยโรคบริเวณผิวหนังแล้ว โรคนี้ยังสามารถก่อให้เกิดรอยโรคที่บริเวณเยื่อบุต่างๆได้ ได้แก่ โพรงปาก (ร้อยละ 70) อวัยวะเพศ (ร้อยละ 30) เยื่อบุตา และกระจกตา (ร้อยละ 20)

ความแตกต่างจากโรค varicella zoster คือ ผื่นของโรค monkeypox จะมีลักษณะเดียวกันทั้งหมดทั่วทั้งตัว พบที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า และ ผื่นจะกระจายแบบ centrifugal distribution ซึ่งโรค varicella zoster จะมีลักษณะ multistage ไม่พบผื่นที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า และกระจายตัวแบบ centripetal distribution คือ ผื่นจะหนาแน่นที่ลำตัวมากกว่าแขนขา

ระยะฟักตัวของโรคนาน 10 – 14 วัน (1 – 31 วัน)


รูป 3 ลักษณะอาการทางผิวหนังขอโรค monkeypox (จากเวปไซต์ https://fox17.com)
3_2.jpg

ความรุนแรง

ความรุนแรงของเชื้อไวรัส monkeypox ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ตามพื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สายพันธุ์ในแถบทวีปแอฟริกาตะวันตก และ สายพันธุ์ในพื้นที่ทวีปแอฟริกากลาง หรือแถบลุ่มแม่น้ำคองโก โดยถ้าเชื้อที่มาจากทวีปแอฟริกากลางจะแพร่กระจายได้เร็วกว่า และมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ในแถบทวีปแอฟริกาตะวันตก (2)

จากการะบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบความรุนแรง ดังต่อไปนี้ 1) อาการไม่รุนแรง เกิดตุ่ม น้อยกว่า 25 ตุ่ม ร้อยละ 7.5 2) เกิด 25 99 ตุ่ม ร้อยละ 19 3) เกิดมากกว่า 100 ตุ่ม ร้อยละ 75 แตกต่างสายพันธุ์ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาที่มีความรุนแรงน้อยกว่า และไม่พบผู้เสียชีวิตเลย ความรุนแรงที่ต่างกันนี้คาดว่าเกิดจากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น (6)

ภาวะแทรกซ้อน (1, 6)

การะบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบภาวะแทรกซ้อนสูงถึง ร้อยละ 40 ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง อาการทางระบบทางเดินหายใจ และ ปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่พบได้ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว keratitis แผลที่กระจกตา encephalopathy ภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ร่วมกับ dysphagia และ airway compromise และ septicemia

นอกจากนี้ยังมีรายงานโรค monkeypox แต่กำเนิด (congenital monkeypox infection) 1 รายในปี พ.ศ.2526 เป็นทารกคลอดก่อนกำหนด คลอดจากมารดาที่ป่วยเป็นโรค monkeypox ขณะตั้งครรภ์ ท้ายที่สุดทารกรายนี้เสียชีวิต (1)

พยากรณ์โรค (1, 2)

โรคนี้สามารถหายขาดเองได้ภายใน 2 4 สัปดาห์ แต่จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ในผู้ป่วยเด็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยมีอัตราการเสียชีวิต ประมาณร้อยละ 0 17

การวินิจฉัยโรค และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (1, 2, 7)

ตามเกณฑ์ของ U.S.CDC สามารถแบ่งการวินิจฉัยโรค monkeypox เป็น 3 แบบ ดังต่อไปนี้ (7)

1.Suspect case คือ

- ผู้ที่มีผื่นที่เข้าได้กับโรค monkeypox

หรือ ผู้ที่มีประวัติเข้าได้กับ Epidemiologic Criteria ร่วมกับมีอาการต้องสงสัยโรค monkeypox

2. Probable case คือ

- ไม่มีประวัติสัมผัส Orthopoxvirus และไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรค smallpox เมื่อเร็วๆนี้มาก่อน แต่ ตรวจพบ orthopoxvirus จากรอยโรคโดยวิธี polymerase chain reaction (PCR) หรือวิธี immunohistochemical หรือ พบทาง electron microscope

หรือ - ตรวจพบ anti-orthopoxvirus IgM antibody ในช่วง 4 วัน 56 วันหลังเกิดผื่น

3. Confirmed case คือ ตรวจพบ monkeypox virus DNA จากรอยโรค โดยวิธี PCR หรือ การเพาะเชื้อ

Epidemiologic criteria คือ ภายใน 21 วันก่อนมีอาการ มีประวัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1) สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโรค monkeypox

2) สัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค monkeypox

3) เดินทางเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรค monkeypox

4) สัมผัสสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา

อย่างไรก็ตามสามารถตัดโรค monkeypox ออกได้ ถ้าเข้าได้กับ Exclusion criteria ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1) ได้รับวินิจฉัยโรคอื่น โดยที่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอ

2) ผู้ป่วยไม่มีอาการผื่นภายใน 5 วันหลังเริ่มป่วย

3) ไม่พบเชื้อ orthopoxvirus หรือ monkeypox virus หรือ antibodies ของ orthopoxvirus จากสิ่งส่งตรวจ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (2)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญในการวินิจฉัยโรค monkeypox คือวิธี PCR โดยสิ่งส่งตรวจ คือ รอยโรคที่ผิวหนัง (บริเวณผิวของผื่น หรือน้ำที่อยู่ภายในผื่น) ไม่แนะนำให้ส่งตรวจ PCR จากเลือด เพราะโรคนี้มีระยะ viremia ที่สั้นมาก

ข้อดีของวิธี PCR คือ มีความไว และความจำเพาะสูง นอกจากนี้ยังสามารถแยกระหว่างโรค monkeypox และ โรค smallpox ได้ และ ยังสามารถแยกสายพันธุ์จากแอฟริกาตะวันตกและ สายพันธุ์จากแอฟริกากลางได้อีกด้วย

ไม่แนะนำให้ใช้การตรวจโดยวิธี serology เพราะสามารถได้ผลบวกลวงจากการ cross-reactive กับ orthopoxviruses อื่นได้ นอกจากนี้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรค smallpox ก็จะมีภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดผลบวกลวงได้เช่นเดียวกัน

ในประเทศไทยสามารถส่งตรวจโรค monkeypox โดยวิธี PCR ได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทางสถาบัน แนะนำชนิดสิ่งส่งตรวจ และวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจ ดังตาราง (8)

ตาราง ชนิดสิ่งส่งตรวจ และวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจโดยวิธี PCR เพื่อตรวจหาโรค monkeypox แนะนำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (8)

ชนิดและปริมาณตัวอย่าง

การเก็บและการนำส่งตัวอย่าง

Vesicular swabs หรือ Pustular fluid 0.5–1 มิลลิลิตร

ทำความสะอาดตุ่มแผลด้วย 70% แอลกอฮอลล์ ใช้ disposible syringe พร้อมเข็มเจาะ ดูดน้ำในตุ่มแผล เก็บใส่หลอดไร้เชื้อ ปิดฝาเก็บในกระติกน้ำแข็ง (4 oC) ทันที

Swab จากแผล

ทำความสะอาดตุ่มแผลด้วย 70% แอลกอฮอลล์ ใช้กรรไกรตัดผิวหนังที่คลุมตุ่มแผล จากนั้นใช้ lancet ปราศจากเชื้อขูดแผลจนกระทั่งผิวชื้นแต่เลือดยังไม่ออกแล้วใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อป้ายที่แผล แล้วรีบแช่ swab ลงในหลอด VTM เก็บในกระติกน้ำแข็ง (4oC) ทันที

การรักษา (9)

จากพยากรณ์โรคดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าโรค monkeypox เป็นโรคที่หายเองได้ อย่างไรก็ตามในเด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้น US.CDC จึงแนะนำให้รักษาโรค monkeypox ในกรณี ดังต่อไปนี้

1.มีอาการรุนแรง ได้แก่ hemorrhagic disease, confluent lesions, sepsis, encephalitis, หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

2. เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย อาเจียน/ ถ่ายเหลวรุนแรง ปอดอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

3. ลุกลามสู่อวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ ตา ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก

4. มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรง ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องต่างๆทั้งจากตัวโรค และจากยา

5. เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี

6. หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตร

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับโรค Monkeypox แต่อาจจะสามารถรักษาด้วยยาที่ใช้รักษาโรค smallpox ได้แก่ tecovirimat, cidofovir, vaccinia immune globulin intravenous (VIGIV), brincidofovir ได้

อย่างไรก็ตาม องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) ได้อนุมัติให้ยา tecovirimat ให้ใช้รักษาโรค monkeypox ได้แล้ว ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการปล่อยเชื้อไวรัสออกจากเชล (10)

การป้องกัน (11)

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรค monkeypox ได้โดยตรง แต่เนื่องจากความคล้ายคลึงกันระหว่างเชื้อไวรัสที่ก่อโรค monkeypox และ เชื้อไวรัสที่ก่อโรค smallpox วัคซีน smallpox จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค monkeypox สูงถึงร้อยละ 80 85 (1) วัคซีนป้องกันโรค smallpox ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา มีทั้งหมด 2 แบบ คือ ACAM2000TM และ JYNNEOSTM

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศความสำเร็จในการกวาดล้างโรค smallpox และหลังจากนั้นในประเทศไทยก็ได้ยุติการฉีดวัคซีนชนิดนี้ไป แต่จากเหตุการณ์การระบาดของโรค monkeypox ครั้งนี้ ทาง US.CDC จึงมีข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค smallpox เพื่อป้องกันโรค monkeypox ดังต่อไปนี้

1. การป้องกันก่อนเกิดโรค (Pre-exposure prophylaxis) แนะนำให้วัคซีนในกรณี ดังต่อไปนี้

1) เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัย หรือวิจัยเชื้อกลุ่ม orthopoxviruses รวมถึง เชื้อไวรัส monkeypox

2) บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเตรียมพร้อมในการเข้าควบคุมการระบาดของโรค monkeypox

2. การป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis) แนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสโรค หากฉีดหลังสัมผัสโรคนาน 4 วัน 14 วัน วัคซีนอาจช่วยได้เพียงลดความรุนแรงของโรค แต่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ กรณีที่ผู้สัมผัสเคยได้รับวัคซีนมาก่อน แต่นานกว่า 3 ปีแล้ว ผู้สัมผัสเหล่านั้นควรต้องได้รับวัคซีนซ้ำ

การแยกโรค (1)

เนื่องจากโรค monkeypox แพร่กระจายผ่านทางการสัมผัส และผ่านทาง droplet secretion ดังนั้นขณะที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ควรแยกโรคนานจนกระทั่งผื่นตกสะเก็ดทั้งหมด ถ้าผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรแยกโรคจนกระทั่งผื่น และสะเก็ดของผื่นหลุดลอกออกทั้งหมด กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีผื่น ให้แยกโรคนาน 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการไข้ ในรายผู้สัมผัสโรคให้สังเกตอาการนาน 21 วันหลังสัมผัส

เอกสารอ้างอิง
1. Johnston SH, Rimoin WA. Monkeypox and Other Poxviruses. In: Cherry JD, Harrison GJ, Kaplan S, et al.. (2009). Feigin & Cherry's textbook of pediatric infectious diseases. Philadelphia, PA: Saunders/Elsevier. p. 1489 – 96.
2. World Health Organization. Monkeypox. Available at https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/monkeypox Accessed [2022 Jun 3].
3. World Health Organization. Multi-country monkeypox outbreak in non-endemic countries: Update. Available at https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2022-DON388 Accessed [2022 Jun 3].
4. Centers for disease control and prevention. U.S. Monkeypox 2022: Situation summary https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/response/2022/index.html Accessed [2022 Jun 3].
5. Centers for disease control and prevention. Monkeypox: Clinical recognition. Available at https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/clinicians/clinical-recognition.html Accessed [2022 Jun 3].
6. Petersen BW, Damona IK. Orthopoxviruses Vaccinia (Smallpox Vaccine), Variola (Smallpox), Monkeypox, and Cowpox. In: Bennett, J. E., Dolin, R., & Blaser, M. J. (2020). Mandell, Douglas, and Bennett's principles and practice of infectious diseases (Ninth edition.). Philadelphia, PA: Elsevier. p. 1809 – 17.
7. Centers for disease control and prevention. Monkeypox: Case definition. https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/clinicians/case-definition.html Accessed [2022 Jun 3].
8. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข.โรคฝีดาษลิง (Monkeypox). [เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2565]. เข้าถึงได้จาก http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=904
9. Centers for disease control and prevention. Monkeypox: Treatment. Available at https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/treatment.html Accessed [2022 Jun 3].
10. European medicines agency. Tecovirimat SIGA. Available at https://www.ema.europa.eu/en/medicines/human/EPAR/tecovirimat-siga Accessed [2022 Jun 3].
11. Centers for disease control and prevention. Monkeypox: Vaccine guidance. https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/clinicians/smallpox-vaccine.html Accessed [2022 Jun 3].