โรคหัด (measles)


แพทย์หญิง วรากร  ประเสริฐสิน
พันโท เดชวิจิตร์  สุวรรณภักดี
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย


โรคหัดเป็นไข้ออกผื่น ที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักมีอุบัติการณ์สูงในช่วงอากาศหนาวเย็น ล่าสุดเพิ่งมีข่าวการระบาดใหญ่ของโรคหัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยข้อมูลจากระบบรายงานโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 นี้มีอัตราป่วยโรคหัดทั้งประเทศ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน จากอุบัติการณ์ของโรคหัดที่พบมากขึ้นในระยะนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องรู้จักโรคนี้ห้มากขึ้น


โรคหัด เกิดจากอะไร?
เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Measles ซึ่งเป็น RNA ไวรัส โดยเชื้อจะมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย
หลังรับเชื้อนานเท่าไรจึงมีอาการป่วย (ระยะฟักตัว) ?
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัดจะมีระยะฟักตัวของโรคจนเกิดอาการ (ระยะก่อนออกผื่น) 8-12 วัน เฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์


อาการเป็นอย่างไร ?
เริ่มด้วยมีไข้ร่วมกับอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูกไหล ไอบ่อย ตาแดง ตาแฉะ ปากแดง อาการต่างๆ จะเป็นมากขึ้นพร้อมกับไข้ที่สูงขึ้น อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดินในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น หลังจากมีไข้ 3 ถึง 4 วันจะเริ่มมีผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งในระยะแรกผื่นจะมีสีแดง เริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรกแล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งใช้วลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง เมื่อใกล้หายผื่นจะเปลี่ยนสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง


การรักษาทำอย่างไร ?
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและส่วนใหญ่อาการมักจะไม่รุนแรง การรักษาและปฏิบัติตัวของผู้ป่วยจึงเน้นการรักษาตามอาการเหมือน โรคไข้หวัด เช่น เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น ยาแก้ไอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ สามารถให้การดูแลอยู่ที่บ้านได้ในเบื้องต้น นอกเหนือจากการรักษาตามอาการแล้วปัจจุบันแนะนำให้รักษาด้วยวิตามินเอในผู้ป่วยโรคหัดทุกรายเป็นเวลา 2 วัน แต่หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น คือ มีอาการไอมาก เสมหะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียวหรือหายใจเหนื่อยหอบ ผู้ปกครองควรจะพามาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในโรคหัด คืออะไร?
แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายจากโรคได้เองและเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น โรคปอดอักเสบติดเชื้อ โรคอุจจาระร่วง หูชั้นกลาง ซึ่งจะพบได้ในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยมักพบในระยะหลังของโรค ซึ่งไข้เริ่มทุเลาลงแล้ว


ติดต่อได้อย่างไร ?
เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และติดต่อเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้


แพร่กระจายโรคได้นานไหม ?
โดยทั่วไปผู้ป่วยเป็นหัดจะแพร่เชื้อได้นาน จนถึง 4 วัน หลังผื่นขึ้น


ป้องกันทำได้อย่างไร?
นอกจากการป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยแล้ว โรคหัดสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนซึ่งปัจจุบันเป็นวัคซีนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องฉีดให้เด็กทุกคน จากเดิมวัคซีนป้องกันโรคหัดจะให้ใน 2 ช่วงอายุ คือ เข็มแรก ให้ในเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 4-6 ปี จนมาในช่วงปี พ.ศ. 2555-2557 กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีเด็กอายุ 2 ปี ป่วยเป็นโรคหัดมากขึ้น จึงพิจารณา และเสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์การให้วัคซีนเข็มที่ 2 ใหม่ เป็นอายุ 2 1/2 ปีแทนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558  ปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด เข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 2 1/2 ปี 


การฉีดวัคซีนขัดหลักศาสนาอิสลามหรือไม่?
สำหรับชาวมุสลิมได้มีคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีและองค์กรระดับนานาชาติยืนยันตรงกันว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา