โรคไข้ซิกา ( Zika virus disease )


ลักษณะของโรค

โรคไข้ซิกา เกิดขึ้นโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบครั้งแรกที่ประเทศอูกานด้า เมื่อปี พ.ศ.2490 ในลิง โดยในขณะนั้นมีการศึกษาวงจรการเกิดโรคไข้เหลือง จึงมีการค้นพบเชื้อไวรัสซิกาขึ้นมาโรคไข้ซิกา พบมีการติดต่อในคนตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ในประเทศอูกานด้า สาธารณรัฐทานซาเนีย และมีรายงานพบการระบาดของโรคไข้ซิกา ในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิกและอเมริกา ทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดของโรคจะแพร่กระจายไปยังประเทศใหม่ ๆ เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้นยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคยังมีกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก

1.JPG

ประเภทของเชื้อ

: Flavivirus

พาหะนำโรค : ยุงลาย (ปกติออกหากินในช่วงเวลาเช้า บ่ายแก่ๆ และช่วงเย็น)

2.JPG

อาการของโรค

ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ใช้เวลาประมาณ 3 - 12 วัน อาการของโรคไข้ซิกา คล้ายกับโรคที่เกิดจาก อาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยมีอาการไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย และอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน ในช่วงที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ในหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย และประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ได้รายงานภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการติดโรคไข้ซิกาต่อระบบประสาท ในระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจุบันในประเทศบราซิล เจ้าหน้าที่ได้พบว่ามีการติดเชื้อโรคไข้ซิกาเพิ่มขึ้นในประชาชนทั่วไป และในขณะเดียวกันพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีการเพิ่มขึ้นของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) ในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) กับการติดโรคไข้ซิกา และต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีผลให้เกิดภาวะดังกล่าวร่วมด้วย

3.JPG

วิธีการแพร่โรค

เชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อ และไปกัดคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Aedes aegypti ซึ่งมีอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้น โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกา เป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ( Chikungunya) และไข้เหลือง

4.JPG

การวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยไวรัสซิกาทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยการตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธี Real-time PCR (polymerase chain reaction) และการแยกเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย สำหรับการตรวจแอนติบอดี ที่จำเพาะต่อไวรัสซิกาค่อนข้างยาก เนื่องจากไวรัสซิกามีลักษณะที่คล้ายกับไวรัสที่ก่อโรคอื่น เช่น โรคไข้เลือดออกเวสไนล์ และไข้เหลือง โดยสามารถส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสารพันธุกรรมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบาราศนราดูร

การรักษาโรค

ผู้ป่วยโรคไข้ซิกา ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทาให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์



ที่มา - บทความจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ไฟล์แนบบทความ
 Download [141 kb]