โรคคอตีบ


สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  (Corynebacterium diphtheriae) มักจะเป็นในระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูก


อาการและการติดต่อ 

          ติดต่อทางตรงโดยผู้ป่วยเป็นพาหะ ติดจากละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยหรือจากน้ำนมที่มีเชื้อโรค โดยการใช้ขวดนมร่วมกันของเด็กที่เป็นโรคติดต่อทางอ้อม โดยการใช้ภาชนะ ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย พบมากในแหล่งชุมชน หรือสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก อาการของโรคคอตีบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน หลังจากผ่านระยะฟักตัวหรือเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2-5 วันบริเวณที่ติดเชื้อจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีเทา หรือ สีขาว เกิดที่ผนังของหลอดคอและที่ต่อมทอนซิล รอบ ๆ แผ่นเยื่อสีเทานี้จะบวมแดง อันเนื่องมาจากการอักเสบ อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ถ้าเป็นคอตีบของกล่องเสียง จะมีอาการบวมมาก  อาจทำให้หายใจไม่ออก ทำให้เด็กเล็กๆ ตายได้ง่าย  แต่ถ้าเป็นคอตีบที่โพรงจมูกจะมีอาการเล็กน้อยและมักจะเรื้อรัง โดยมีน้ำมูกข้างใดข้างหนึ่งอาจมีเลือดปนคอตีบของผิวหนังจะเกิดแผล มีสะเก็ดสีเหลืองหนาบนปากแผล สะเก็ดจะติดแน่นบนผิวหนังมักมีอาการเรื้อรังเช่นเดียวกับคอตีบที่ช่องจมูก

          โรคแทรกซ้อน อาจเกิดโรคหัวใจอักเสบ หรือมีอาการอักเสบของประสาทสมอง โรคอัมพาตเนื่องจากพิษทางประสาท

          โรคไข้คอตีบ มักพบมากในเด็กก่อนและระยะต้น ๆ ของวัยเรียน คือช่วงอายุ 2-5 ปี  หรือพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันก็อาจป่วยเป็นไข้คอตีบได้

การตรวจวินิจฉัยโรค   

1. ดูจากอาการผู้ป่วย
2. ตรวจพบเนื้อเยื่อสีเทาหรือสีขาว (Tenacious gray pseudomembrane)ที่บริเวณ ซึ่งตัวเชื้อโรคเข้าไป นำไปเพาะเชื้อ

การป้องกัน

          การให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (Toxoid) ให้ครอบคลุม ควรเริ่มในเด็กทารกด้วย วัคซีน DTP ซี่งประกอบด้วย Toxoid คอตีบToxoid  บาดทะยัก และวัคซีนไอกรน  โดยฉีดในเด็ก อายุ 2-3 เดือน ฉีดเข็ม 2 และ 3 ห่างกันเข็มละ 2 เดือน  แล้วฉีดกระตุ้นหลังเข็มสุดท้ายประมาณ 1 ปี สำหรับเด็กหรือผู้สัมผัสโรค ควรฉีด Antitoxin โดยพิจารณาปริมาณตามความรุนแรงของโรค เพื่อป้องกันโรค ไม่ควรใกล้ชิดผู้ป่วย จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า เด็กนั้นไม่เป็นพาหะของโรคแล้ว

สำนักงานป้องกันควบคุมโรค

“โรคนี้มีโอกาสเกิดได้ในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับการฉีดวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และต้องฉีดให้ครบตามจำนวน ซึ่งจะมีผลป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคนี้หากประชาชนมีอาการป่วยดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะป้องกันการเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมียาปฏิชีวนะรักษาและใช้ได้ผลดี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยขอให้ป้องกันตัวเอง โดยมีมาตรการทางสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดหนาแน่น และล้างมือบ่อยๆ ไอจามควรปิดปากปิดจมูก หากป่วยเป็นเป็นโรคทางเดินหายใจต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดคนอื่น”