โรค ไอ พี ดี (Invasive Pneumococcal Disease)


1. โรคไอพีดี ( IPD) คืออะไร

IPD ย่อมาจาก invasive pneumococcal disease ( IPD) คือ การติดเชื้อนิวโมคอคคัสแบบรุนแรงและแพร่กระจาย ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคนี้รู้จักมานานแล้ว มักพบในทารกและเด็กเล็ก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักจนถึงชีวิตได้ หรือเกิดความพิการตามมาได้

2. เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้ออะไร ติดต่อได้อย่างไร

นิ วโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวก มี 90 กว่าสายพันธุ์ โดยมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุของโรคไอพีดี พบเชื้อนี้ได้ในทางเดินหายใจส่วนต้น ( โพรงจมูกและคอหอย ) ของคนโดยผู้ที่มีเชื้อในลำคอ (หรือเรียกว่าพาหะ) สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ทางละอองเสมหะหรือน้ำมูก ในเด็กไทยปกติพบเชื้อในทางเดินหายใจ ส่วนต้น เฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 35 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่พบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่าในเด็กมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4

3. การติดเชื้อนิวโมคอคคัสทำให้ป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง

เชื้อ นิวโมคอคคัส มักทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและพบได้บ่อย เชื้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวม ซึ่งอาจมีอาการรุนแรง ส่วน การติดเชื้อแบบไอพีดีพบได้น้อยมากแต่มีความรุนแรงโดยเชื้อนิวโมคอคคัสเข้า สู่ร่างกายทางเยื่อบุบริเวณทางเดินหายใจ เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้ออาจแพร่กระจายไปเยื่อหุ้มสมองทำให้มีสมองอักเสบ หรือไปที่อวัยวะอื่นเช่น กระดูกและข้อทำให้มีกระดูกและข้ออักเสบ

4. ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคไอพีดี

เด็ก ทั่วไปโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอพีดีมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้เด็กยังเป็นพาหะของเชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่ คือพบมีเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นเฉลี่ย 2-4 เดือน ในขณะที่ผู้ใหญ่เป็นพาหะนาน 2-4 สัปดาห์ โดยเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษต่อโรคไอพีดี ได้แก่ เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี เด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่วจากความพิการแต่กำเนิดหรือมีกะโหลกศีรษะแตก และเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นใน นอกจากนี้เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กที่อยู่กับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ และเด็กไม่ได้กินนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อโรคไอพีดีสูงกว่าปรกติด้วย ส่วนผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ คนสูงอายุ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ โรคถุงลมปอดโป่งพองหรือมีหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง

4. การติดเชื้อนิวโมคอคคัส และไอพีดีพบบ่อยไหม

เชื้อ นิวโมคอคคัสชนิดไม่รุนแรง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และปอดอักเสบ พบได้บ่อย แต่อุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในเด็กไทยมีน้อยกว่าในต่างประเทศมาก

5. โรคไอพีดีรักษาอย่างไร

การ รักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส และไอพีดีจะใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มแพนนิซิลลิน หรือเศฟาโลสปอรินส์ ปัจจุบันพบว่ามีการดื้อยามากขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่โรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีถ้ามาพบแพทย์ และได้เริ่มให้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

6. โรคไอพีดีสามารถป้องกันได้ไหม

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีแล้ว โดยมีวัคซีนอยู่ 2 ชนิดชนิดแรก เป็นวัคซีนดั้งเดิมชนิดโพลีแซคคาไรด์ ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัสวัคซีนจำนวน 23 สายพันธุ์ วัคซีนนี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ใน เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และประสิทธิภาพจำกัดจึงใช้เฉพาะกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ และ ผู้สูงอายุเท่านั้นชนิดที่สอง เป็นคอนจูเกตวัคซีน ซึ่งเพิ่งจะมีจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัสจำนวน 7 สายพันธุ์พ่วงกับโปรตีนทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไอพีดีในเด็กไทยได้ร้อยละ 70 วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันโรคไอพีดีจากเชื้อสายพันธุ์ในวัคซีนได้ ร้อยละ 97.3 ( แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์นอกวัคซีน) ป้องกันโรคปอดอักเสบได้ร้อยละ 35 ป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบได้บ้าง ในต่างประเทศแนะนำให้วัคซีนนี้ในเด็กปรกติ อายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นตอนอายุ 12-15 เดือนการป้องกันโดยวิธีอื่นๆซึ่งมีความสำคัญมาก ได้แก่ การทำร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีสุขอนามัย เด็กเล็กควรกินนมแม่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และการอยู่ในที่ๆ มีผู้คนแออัด เมื่อเริ่มเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์

7.  วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี สมควรให้ใช้ในเด็กไทยหรือไม่

แม้ ว่าวัคซีนแบบคอนจูเกต จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีราคาแพง และครอบคลุมไม่ได้ครบทุกสายพันธุ์ของไอพีดี และเนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในเด็กไทย มีน้อยกว่าในต่างประเทศมาก รวมทั้งยังไม่มีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของวัคซีนนี้ในเด็กไทย จึงควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของวัคซีนนี้เป็นรายๆไป หากเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคไอพีดี ควรพิจารณาให้วัคซีนนี้ แต่หากเป็นเด็กปรกติ ความจำเป็นไม่มากนัก ถือเป็นวัคซีนทางเลือกแล้วแต่ความประสงค์ของผู้ปกครองโดยควรคำนึงถึงความ คุ้มค่าเทียบกับราคาของวัคซีนด้วย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนนี้