โรคไข้กาฬหลังแอ่น (MENINGOCOCCAL INFECTION)

1. ลักษณะโรค : เป็นโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลัน มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Meningococcal ที่มีชื่อว่า Neisseria meningitidis (ดังรูปที่ 21)


รูปที่ 21 เชื้อก่อโรคไข้กาฬหลังแอ่น Neisseria meningitidis
จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

2. ระบาดวิทยา :
สถานการณ์ทั่วโลก : มีรายงานการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ กระจายทั่วโลก แตกต่างกันตามฤดูกาลในแต่ละแห่ง ถิ่นที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงที่สุดอยู่ที่ African meningitisbelt ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่เซเนกัลไปจนถึงเอธิโอเปีย มีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคทั้งประเทศหรือเป็นบางส่วนรวม 21 ประเทศ ในภูมิภาคนี้มีอัตราการติดเชื้อแบบประปราย (sporadic) สูงถึง 1 - 20 รายต่อประชากรแสนคน ที่มักเกิดเป็นประจำทุกปี และเกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว โดยปกติเกิดจากเชื้อกลุ่มA ส่วนกลุ่ม C พบได้เป็นครั้งคราว และเมื่อไม่นานมานี้พบการระบาดของเชื้อกลุ่ม W-135 ในพื้นที่แถบ African meningitis belt การระบาดใหญ่อาจมีอุบัติการณ์สูงถึง 1,000 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 8 - 12 ปีในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ๆ เริ่มพบในประเทศอื่นๆที่ติดกันแต่ไม่จัดอยู่ใน African meningitis belt ด้วย เช่น เคนยา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย เป็นต้น
สถานการณ์โรคในประเทศไทย : จากการทบทวนข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นทุกปี โดยในช่วงปี พ.ศ. 2536 - 2552มีรายงานผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 15 - 74 รายต่อปี หรือคิด
เป็นอัตราป่วยเท่ากับ 0.02 - 0.12 รายต่อประชากรแสนคน เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่ามีรายงานผู้ป่วยประปรายตลอดทั้งปี โดยโรคนี้ไม่มีรูปแบบของการเกิดโรคตามฤดูกาลที่ชัดเจน และเมื่อพิจารณาอัตราป่วยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา คือระหว่าง พ.ศ. 2543 - 2551พบแนวโน้มของอัตราป่วยลดลง แต่ในปี พ.ศ. 2552มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2551 สำหรับอัตราป่วยตายแนวโน้มไม่ชัดเจน พบว่าปี7 พ.ศ. 2543 - 2546 อัตราป่วยตายมีแนวโน้มลดลง ปี พ.ศ. 2546 - 2550 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและลดลงในปี พ.ศ. 2551 แต่ในปี 2552 มีแนวโน้มของอัตราป่วยตายสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2551 โดยโรคนี้เป็นได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุตํ่ากว่า 5 ปี การระบาดมักมีขนาดเล็ก และมักพบมากในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นและแออัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานต่างด้าว

3. อาการของโรค : มีไข้สูงทันที ปวดศีรษะอย่างรุนแรงคลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง และกลัวแสง มีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechial rash) ร่วมกับปื้นสีชมพู (pink macules) อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ส่วนผู้ป่วยที่เกิดภาวะติดเชื้อมีนิงโกคอกคัสในกระแสโลหิต (meningococcaemia) (ดังรูปที่ 22) หรืภาวะโลหิตเป็นพิษ (meningococcal sepsis)เป็นการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุด ทำให้เกิดผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง ความดันโลหิตตํ่า (hypotension) เกิดการจับตัวเป็นลิ่มในหลอดเลือดแบบกระจายทั่วไป (disseminated intravascular coagulation) และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว (multiorgan failure) สำหรับรูปแบบอื่นๆ ของโรคไข้กาฬหลังแอ่น เช่น ปอดอักเสบ (pneumonia) ข้ออักเสบเป็นหนอง (purulent arthritis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) มักพบได้น้อยกว่า


รูปที่ 22 เด็กทารกเพศหญิงอายุ 4 เดือน มีภาวะติดเชื้อ Meningococcal ในกระแสโลหิต
(meningococcaemia) พบ ลักษณะเนื้อตายที่แขน ขา (4 month old female with gangrene
of hands and lower extremities due to meningococcemia)

4. ระยะฟักตัวของโรค : โดยเฉลี่ย 3 - 4 วัน (พบได้ในช่วง 2 - 10 วัน)

5. การวินิจฉัยโรค : การตรวจพบเชื้อ Meningococci จากบริเวณที่ปลอดเชื้อ คือ จากนํ้าไขสันหลัง (CSF) หรือจาก
เลือด อย่างไรก็ตาม ความไวในการเพาะเชื้อมักจะตํ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะแล้ว ในรายที่ผลการเพาะเชื้อเป็นลบ การจำแนก group-specifi c meningococcal polysaccharides ในนํ้าไขสันหลังด้วยวิธี latex agglutination จะช่วยยืนยันการติดเชื้อได้ แต่ก็พบผลลบเทียมได้เสมอ โดยเฉพาะกับเชื้อกลุ่ม B การใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่เอนไซม์ (Polymerase Chain Reaction)มีข้อดี คือช่วยในการตรวจพบ meningococcal DNAในนํ้าไขสันหลังหรือนํ้าเลือด (plasma) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิต แต่วิธีการนี้ยังไม่แพร่หลายในหลายๆ ประเทศ อาจตรวจหาเชื้อ Neisseria ได้โดยการป้ายสไลด์จากผื่นที่ผิวหนังมาย้อมสีแกรม แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

6. การรักษา : ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ฉีดในขนาดที่เพียงพอ เป็นยาที่แนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยที่วินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรคนี้ ยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) และยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) มีประสิทธิผลดีในการรักษาโรคนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดีในหลายๆ ประเทศรวมทั้งสเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าพบเชื้อดื้อต่อยาเพนิซิลลิน (Penicillin) แล้วมีรายงานเชื้อดื้อยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)ในฝรั่งเศสและเวียดนาม

         ควรเริ่มให้การรักษาทันทีที่การวินิจฉัยทางอาการบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น แม้ว่าผลการตรวจหาเชื้อจะยังไม่ออกมาก็ตาม การรักษาในเด็กนั้นถ้ายังไม่ทราบเชื้อสาเหตุของโรค จะต้องให้การรักษาที่ครอบคลุมต่อ Haemophilus influenzae type b (Hib) และ Streptococcus pneumoniae ด้วย และแม้ว่ายาแอมพิซิลิน (Ampicillin) จะใช้ได้ดีกับเชื้อที่ไวต่อยาชนิดนี้ ก็ควรใช้ร่วมกับ third-generation Cephalosporin หรือยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) หรือยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ในแหล่งที่พบว่า H. influenzaetype b (Hib) ดื้อต่อยาแอมพิซิลิน (Ampicillin) หรือ S. pneumoniae ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ผู้ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นหรือ Hib ควรได้รับยาไรแฟมปิซิน(Rifampicin) ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล หากว่าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)หรือยาซิโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofl oxacin) ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อได้รับการกำจัดหมดสิ้นแล้ว

7. การแพร่ติดต่อโรค : จากการสัมผัสโดยตรงกับละออง
ฝอยของเชื้อจากช่องจมูกหรือช่องปากของผู้ป่วย เชื้อเข้า
สู่ร่างกายทางเยื่อเมือก

8. มาตรการป้องกันโรค :
1. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ โดยลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับนํ้ามูกนํ้าลายของผู้ป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิด
2. ลดความแออัดของผู้คนในสถานที่ที่คนอยู่กันจำนวนมาก เช่น ในค่ายทหาร โรงเรียน ที่พักแรม และในเรือ
3. ใช้วัคซีนป้องกันโรคแก่กลุ่มเสี่ยง

9. มาตรการควบคุมการระบาด :

1. ดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด วินิจฉัยโรคเร็วและให้การรักษาแก่ผู้ป่วยสงสัยทันที
2. ลดความแออัดหนาแน่นของผู้ที่ต้องอยู่รวมกัน เช่นทหาร คนทำงานในเหมือง นักโทษ ฯลฯ จัดที่อยู่และห้องนอนให้มีการระบายอากาศที่ดี
3. ให้ยาล่วงหน้าเพื่อป้องกันโรคแบบวงกว้าง (mass chemoprophylaxis) ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโรค แต่การระบาดในคนกลุ่มเล็กๆ (เช่น ในโรงเรียนแห่งเดียว) อาจพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันโรคแก่ทุกคนในกลุ่มนั้นได้
4. หากเกิดการระบาดในหน่วยงานหรือในชุมชนขนาดใหญ่ โดยเกิดจากเชื้อกลุ่ม A, C, W-135, หรือ Yควรพิจารณาใช้วัคซีนป้องกันโรคในประชาชนทุกกลุ่มอายุที่เสี่ยงในการระบาดนั้น

เอกสารอ้างอิง:
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คู่มือการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ
การ. ใน: การเก็บตัวอย่างการส่งตรวจเชื้อก่อโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis). กระทรวงสาธารณสุข; 2552. หน้า 50 - 53.
2. Central for Diseases Control and Prevention.(1998) Laboratory Methods for the Diagnosisof Meningitis caused by Neisseia miningitidis,Streptococcus pneumoniae, and Haemophilus influenzae.
3. Heymann DL., Editor, Control of CommunicableDiseases Manual 19th Edition, American Associationof Public Health, 2008.
4. สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. แนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ สำหรับบุคลากรสาธารณสุข. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ; 255